วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทวิจารณ์เรื่องสั้น "สัญชาตญาณมืด" ของ อ.อุดากร


“สัญชาตญาณมืด”
ความมืดบอดของจิตใจ
ท่ามกลางความเจริญทางวัตถุ
โดย วิวัฒน์ ทัศวา
          อ.อุดากร เป็นนามปากกาของ อุดม อุดาการ เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2467 ที่ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม การศึกษา เรียนหนังสือชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ หลังจบมัธยมศึกษาปี่ 6 จึงเรียนต่อในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วสอบเข้าเตรียมแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิชาแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช 
          พ.ศ.2478 ในปลายปีการศึกษาแรกของการเรียนวิชาแพทย์ ล้มป่วยด้วยโรคปอด ต้องพักการเรียน 2 ปี เพื่อรักษาตัว เมื่อครบกำหนดอาการยังไม่ปกติ จึงต้องลาออก
          หลังล้มป่วยจนเรียนแพทย์ไม่ได้ อ.อุดากรเสียใจมากเพราะเคยมุ่งหวังใช้วิชาแพทย์ช่วยเหลือชาวบ้านในชนบท จึงหันมาสนใจการเขียนอย่างจริงจัง พอดีจังหวะช่วง พ.ศ.2491 นิตยสารสยามสมัย จัดประกวดเรื่องสั้นโบว์สีฟ้า อ.อุดากร เขียนส่งมา 3 เรื่อง ได้แก่ ตึกกรอสส์ เกสราลิขิต และชำหนึ่ง ทุกเรื่องได้รับพิจารณาลงพิมพ์ และเรื่อง "ตึกกรอสส์" ได้รับรางวัลชนะเลิศ เมื่อได้รับความสำเร็จจากงานเขียนทำให้เขามีพลังใจมุมานะเขียนหนังสือแม้ยังเจ็บป่วย
          งานเขียนของ อ.อุดากร เป็นเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นในช่วงสมัยปี พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๓ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านมืดของจิตใจมนุษย์ที่ซุกซ่อนอยู่ แอบแฝงนัยยะทางการเมือง ตลอดจนความรักที่ไม่สมหวัง ออกแนวลึกลับน่าติดตาม และมาหักมุมเอาตอนท้ายเรื่อง
          “สัญชาตญาณมืด” เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นของ อ.อุดากร ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสยามสมัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่เลือกวัสดุในการดำเนินเรื่องอย่างน่าค้นหา โดยการดำเนินเรื่องที่ให้ตัวละครเล่าย้อนไปยังเหตุการณ์ที่แสดงถึงสัญชาตญาณมืดของมนุษย์ เป็นเรื่องสั้นที่ตีแผ่ ศีลธรรม โดยการหยิบยกประเด็นที่ว่า “ศีลธรรมของมนุษย์สิ้นสุดไปทุกขณะจากจิตใจของมนุษย์ ทุกระยะที่ความเจริญทางวัตถุได้ดำเนินไป”
(อ.อุดากร : ๓)
          ท่ามกลางความเจริญของสังคม ทั้งด้านการศึกษา ความเป็นอยู่และเทคโนโลยีต่างๆ ในทางกลับกัน มีสิ่งหนึ่งที่กลับตกต่ำลงอย่างไม่อาจต้านทานได้นั่นคือศีลธรรมและจิตใจของมนุษย์นั่นเอง ความเจริญทางด้านวัตถุมิได้เป็นตัวกล่อมเกลา ลดละความใคร่ หรือสัญชาตญาณมืดให้ลดน้อยลงจากจิตใจของมนุษย์ได้แม้แต่น้อย จนอาจเป็นข้อสรุปของประเด็นในเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะเป็นแก่นของเรื่องก็อาจกล่าวได้ นั่นคือประเด็นที่ว่า “ศีลธรรมของมนุษย์สิ้นสุดไปทุกขณะจากจิตใจของมนุษย์ ทุกระยะที่ความเจริญทางวัตถุได้ดำเนินไป”
(อ.อุดากร : ๓) ประเด็นดังกล่าวบ่งชี้ว่า เมื่อความเจริญทางด้านวัตถุรุกหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งศีลธรรมของมนุษย์ก็ลดลงและหมดสิ้นไปจากจิตใจของมนุษย์อย่างไม่อาจต้านทานได้เช่นกัน
          “ทำไมแกคิดว่า ผู้หญิงที่ยอมไปเที่ยวไหนๆกับมิตรสหายอย่างนี้ จำเป็นต้องจบลงด้วยการเป็นของผู้ชายที่พาไปอย่างนั้นเสมอหรือ” (อ.อุดากร : ๓) คำถามที่เกิดขึ้นจากการสนทนาของตัวละครสองตัวในเรื่องคือ นายแพทย์ชิน เวชภราดา กับ นายแพทย์ชาญ เพื่อนสนิท คำถามของนายแพทย์ชาญ เกิดขึ้นภายหลังที่เขาเห็น ธาดาเพื่อนอีกคนขับรถพาเพื่อนหญิงไปเที่ยวต่าวจังหวัด อ.อุดากร เลือกให้คำตอบของคำถามนี้ โดยการตอบผ่านการบอกเล่าของชิน ตัวละครที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ดำเนินเรื่องราวทั้งหมดว่า เป็นเพราะคนเราเกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณมืด ซึ่งหมายถึงความใคร่ที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคนนั้นเอง เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงต่างก็มีความใคร่และกิเลสด้วยกันทั้งสิ้น
          สัญชาตญาณมืดหรือความใคร่ของมนุษย์ เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การดำเนินเรื่องราว เพราะความเจริญของการศึกษา เทคโนโลยี และความเจริญด้านอื่นๆ เป็นความเจริญทางวัตถุที่รุกหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็มิได้ปรับระดับของจิตใจให้เจริญไปตามวัตถุเหล่านั้นเลย
          “สิ่งแวดล้อมที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นอย่างไรละ ภายใต้คำว่า อารยธรรมแผนใหม่ มนุษย์ได้ตั้งกฎเกณฑ์สำหรับสังคมขึ้นหลายประการ เขาได้พยายามเรียกมันในครั้งแรก และต่อมาตัวเองก็เชื่อสนิทว่ามันเป็นความเจริญซึ่งแท้จริงตรงข้ามเหลือเกิน...” (อ.อุดากร : ๓)  เมื่อระบบวัตถุนิยมกลายเป็น “อารยธรรมแผนใหม่” ที่มนุษย์เชื่อว่าเป็น “ความเจริญ” ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมันตรงข้ามกับความเป็นจริงอย่าสิ้นเชิง เพราะระบบอารยธรรมแผนใหม่นี้ ที่จริงแล้ว คือการที่คนในสังคมยอมรับและมองว่า เงินตราและวัตถุเป็นเครื่องวัดคุณค่าของคนแทนคุณธรรมจริยธรรม รวมไปถึงศีลธรรมด้วยเช่นกัน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เงินตราและวัตถุจึงกลายมาเป็นพระเจ้า จนที่สุดก็ไม่มีที่ว่าพอสำหรับศีลธรรมคุณธรรม ภายใต้อำนาจของ “อุปกรณ์เย้ายวน” จึงไม่แปลกเลยว่า เหตุใดเล่ามนุษย์จึงตกต่ำทางจิตใจและศีลธรรมเช่นนี้ อุปกรณ์เย้ายวนเสมือนพญามัจจุราชที่พยายามหลอกล่อหรือกระตุ้นให้มนุษย์ถอยห่างจากการยึดถือศีลธรรม เป็นเครื่องหมายแห่งความดี
          อ.อุดากร เชื่อมโยงประเด็นปัญหาความตกต่ำของจิตในและการถอยห่างจากศีลธรรมของมนุษย์ กับตัวอย่างเหตุการณ์ที่แสดงถึงสัญชาตญาณมืดของมนุษย์ การพัฒนาทางการศึกษา เป็นต้นเหตุของความเจริญทางด้านวัตถุที่มิได้กล่อมเกลา ยกระดับจิตใจมนุษย์ให้สูงชึ้น กระทั่ง “อุปกรณ์เย้ายวน” ทำหน้าที่เสมือนอิทธิพลจากวัตถุ ความใคร่และศีลธรรมจึงก่อตัวขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการหรือสัญชาตญาณมืดของตน
          การยกตัวอย่างเหตุการณ์ในเรื่อง อ.อุดากร กำหนดให้ แดงเลือกที่จะแต่งงานและจดทะเบียนกับดำเกิงชายคนรักที่แม้จะป่วยเป็นวัณโรค ในทางนิตินัยแล้วทั้งสองเป็นสามีภรรยากันโดยสมบูรณ์ แต่ในทางพฤตินัยไม่เป็นเช่นนั้น การแยกห้องนอนกันช่วยให้เข้าใจได้ว่าแดงและดำเกิงไม่ได้เป็นสามีภรรยากันในทางการกระทำหรือทางพฤตินัยจริงๆ ฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญพอที่จะทำให้แดงเปิดเผยสัญชาตญาณมืดของตนออกมา
          สัญชาตญาณมืดของแดง เริ่มต้นขึ้นภายหลังที่เพื่อนของดำเกิงและแฟนสาวเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับครอบครัวของเขา พฤติกรรมการแสดงออกทางความรักอย่างไม่ปกปิดและไม่ละอายของคู่รักที่มาอาศัยอยู่ในบ้าน เปรียบเสมือน “อุปกรณ์เย้ายวน” แดง ให้เปิดเผยสัญชาตญาณมืดของตนออกมา การอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแสดงออกและการตอบสนองทางเพศทำให้แดงไม่สามรถยับยั้งใจตนเองได้ อุปกรณ์เย้ายวนคือสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นดึงความใคร่ ความลุ่มหลง และกิเลสของมนุษย์ออกมา ความใคร่ ความลุ่มหลงหรือที่เรียกรวมๆว่า กิเลส นั้น เฉกเช่นหนึ่งพญามัจจุราชที่จะฉุดดึงจิตใจของมนุษย์ ให้ดำดิ่งลงไปสู่ความตกต่ำในทุกขณะที่ความเจริญทางวัตถุเจริญไปอย่างไม่หยุดยั้ง
          อ.อุดากร พยายามชี้ให้เห็นว่าศีลธรรมบางอย่างของมนุษย์อย่างแดง สามารถยับยั้งแดงไม่ให้มีความสัมพันธ์กับคนสวน ท้ายที่สุดสัญชาตญาณมืดก็สะสมและก่อตัวขึ้นด้วยอำนาจของ “อุปกรณ์เย้ายวน” จนทำให้ศีลธรรมเลือนหายไปจากจิตใจของมนุษย์ การที่แดงเลือกที่จะไม่มีอะไรกับนายแก้วคนสวนผิวสะอาด เพราะเธอเลือกที่จะไม่เปิดโอกาสให้คนคนหนึ่งได้โพนทะนาความชั่วของตนเองเมื่อใดก็ได้ ฉะนั้นเธอจึงเลือกที่จะสนองตอบต่อสัญชาตญาณมืดและความต้องการของตนด้วยการมี สุนัขเป็นชู้
          เมื่อความใคร่ กิเลส และสัญชาตญาณมืดเข้าครอบงำจิตใจของแดง จึงไม่น่าแปลกว่าเหตุใดแดงจึงเลือกมีสัมพันธ์กับสุนัข มาถึงตอนนี้ความหมายของการแต่งงานของแดงที่เคยบอกดำเกิงก่อนแต่งงานได้เปลี่ยนไปแล้ว “...โธ่ ดำเกิง การแต่งงานไม่ได้หมายถึงการที่เราจำเป็นต้องเป็นสามีภรรยากันตามความหมายของการแต่งงานทั่วๆไปนั้นเสมอไปนี่คะ การแต่งงานของเราหมายถึงเพียงความถูกต้องตามนิตินัยเท่านั้น ไม่ใช่ทางพฤตินัย เพื่อแดงจะได้อยู่ใกล้เธอ ได้รับใช้เธอได้เท่านั้นเอง...มันเป็นความสุขที่แดงยินดีจะปฏิเสธความสุขอื่นๆแม้จะได้หยิบยื่นมาจากฟ้า” (อ.อุดากร : ๖)
          “แดงยินดีจะปฏิเสธความสุขอื่นๆแม้จะได้หยิบยื่นมาจากฟ้า” ตอนนี้แดงได้ก้าวข้ามและฝืนกฎแห่งคำพูดของตนออกมาแล้ว ความหมายและความปรารถนาต่อการแต่งงานของเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยอำนาจจาก “อุปกรณ์เย้ายวน” ฉะนั้นเพียงแค่การได้ใกล้ชิด ได้รับใช้ดูแลคนที่แดงรักไม่เพียงพอสำหรับเขาอีกต่อไป แดงได้ค้นพบความปรารถนาใหม่ในการแต่งงานอีกประการของตัวเอง เขารู้สึกว่าถึงตอนนี้เพียงแค่ “ดอกไม้ แบบเสื้อ และการลูบไล้แผ่วๆอย่างทะนุถนอมของดำเกิงที่หลังมือ ที่ต้นแขน มันหาเพียงพอไม่สำหรับความต้องการของชีวิต”
(อ.อุดากร : ๗)  และแม้ว่า “มโนธรรมอาจจะยับยั้งความร้อนระอุในสายเลือดมนุษย์ไว้ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ภายใต้สีดำของสัญชาตญาณมืดที่ถูกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น มโนธรรมมีค่าน้อยเกินไป” (อ.อุดากร : ๗)  เพราะสัญชาตญาณมืดของแดงถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมจนแดงต้องเลือกที่จะสนองต่อความต้องการของสัญชาตญาณมืดของตนด้วยการมีสัมพันธ์กับสุนัขอัลเซเชียนของเขาเอง และในที่สุดอ.อุดากร ก็ชี้ให้เห็นว่า สุนัข ก็เป็นเสมือนสัญลักษณ์แสดงถึงความตกต่ำทางศีลธรมของมนุษย์ การยอมรับและเชื่ออย่างสนิทใจว่าความเจริญทางวัตถุในปัจจุบันเป็น ความเจริญ แต่บางครั้งมันอาจเจริญเกินความจำเป็นที่มนุษย์อย่างเราทุกคนต้องการ การศึกษาที่สังคมเห็นพ้องต้องกันว่า ยิ่งศึกษาสูงเพียงไรย่อมมีความรู้สูงเท่านั้น กลับไม่ได้มีส่วนในการขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้นได้แม้แต่น้อย หนำซ้ำรังแต่จะฉุดให้มนุษย์หลุดพ้นออกจากการยอมรับนับถือศีลธรรม ว่าเป็นสิ่งดีงามด้วยซ้ำไป
          “สัญชาตญาณมืด” เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึงศีลธรรมที่ตกต่ำลงของมนุษย์ ซึ่งเป็นเพราะความเจริญรุกหน้าไปทางวัตถุ สิ่งแวดล้อมหรืออุปกรณ์เย้ายวนที่กระตุ้นให้มนุษย์กระทำผิดศีลธรรม
          อ.อุดากร เลือกใช้สัญลักษณ์ในการดำเนินเรื่องที่สื่อถึงความตกต่ำของศีลธรรมในตัวมนุษย์ การมีชู้กับสัตว์อย่างสุนัขคือสัญลักษณ์ที่เขาเลือกใช้ เพราะการกระทำของแดงตัวละครในเรื่อง เสมือนกับว่ามนุษย์ได้ถอยห่างและเพิกถอนศีลธรรมทั้งปวง และเปิดโอกาสให้สัญชาตญาณมืดเข้ามาแทนที่ในจิตใจแทนศีลธรรมจนบอดสนิท พฤติกรรมการเสพสมกับสุนัขเสมือนกับการที่มนนุษย์นำจิตใจของตนให้ลงไปเกลือกกลั้วและจมลงไปกับความไม่มีศีลธรรม
          ท้ายที่สุดการกระทำของดำเกิงก็ยิ่งย้ำให้เห็นว่า แม้ว่าการศึกษาจะเจริญมากเพียงไร มนุษย์ก์ไม่อาจต้านทานอำนาจมืดที่เติบโตอยู่ในจิตใจของตนได้ เพราะแม้แต่ดำเกิงผู้ที่ได้รับการศึกษามาสูงพอ เมื่อเผชิญเข้ากับเหตุการณ์การกระทำของแดงภรรยาของตนกับสุนัข เสมือนเขาถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์เย้ายวน จนเขาเลือกที่จะเปิดเผยสัญชาตญาณมืดของตัวเองออกมา ด้วยการฆ่าภรรยาของตัวเอง ในที่สุด

บรรณานุกรม
อ.อุดากร (นามปากกา). ๒๔๙๓. “สัญชาตญาณมืด”, สยามสมัย รายสัปดาห์. ๓ (๒๗ มกราคม)

บทวิจารณ์เรื่องสั้น "แรงคลื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์


แรงคลื่น : ความเจริญที่ควบคุมไม่ได้ คืออันตรายที่สุดสำหรับมนุษย์ 
โดย ว.ทัศวา*

                วิวัฒนาการของวรรณกรรมปัจจุบันทั้งรูปแบบและเนื้อหามีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม เนื่องจากตั้งแต่วรรณกรรมยุคเริ่มแรก เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๔๓ กระทั่งมีวิวัฒนาการมาถึงยุควรรณกรรมเพื่อประชาชน อย่างในปัจจุบันนี้ ต่างก็มีรูปแบบและเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยกันทั้งสิ้น
          เรื่องสั้น นับเป็นวรรณกรรมรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในวงการนักอ่านและนักเขียน ทั้งนี้ด้วยความก้าวหน้าทั้งรูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรมทำให้วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นได้รับความนิยมอย่างมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเรื่องสั้นเป็นวรรณกรรมที่เสนอความคิดได้กะทัดรัด กระจ่างชัดตรงเป้าหมายกว่าเรื่องยาว และนอกจาก เรื่องสั้นจะให้ความบันเทิงเริงใจแล้วยังเป็นวรรณกรรมที่รวมทั้งเนื้อหาสาระ ข้อคิด และทัศนคติต่างๆ แก่ผู้อ่าน
          อย่างไรก็ตามหน้าที่สำคัญของเรื่องสั้นที่จะมิกล่าวถึงเสียมิได้คือ การจดบันทึกความเป็นไปของยุคสมัยใดสมัยหนึ่งเอาไว้เป็นข้อคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อสังคม ทั้งยังเป็นข้อมูลหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ภาวะสังคมในยุคสมัยนั้น เป็นการเรียนรู้อย่างลงลึกและซึมซับ เพราะศิลปะแห่งเรื่องสั้นทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การจดบันทึกไว้ทั้งเรื่องราว เหตุการณ์และอารมณ์ความรู้สึก สาเหตุที่กล่าวมายืดยาวนี้ไม่ใช่จะเพียงจะอธิบายว่าเรื่องสั้นนั้นคืออะไร แต่เนื่องจากหนังสือที่จะวิจารณ์ต่อไปนี้มีลักษณะของเรื่องสั้นดังที่กล่าวมาข้างต้นอยู่พอสมควร
          ราหูอมจันทร์ Vol.1 กีต้าร์ที่หายไป นิตยสารรวมเรื่องสั้นรายฤดูกาล ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นาคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นับเป็นนิตยสารรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งที่จัดทำขึ้นด้วยการรวมรวมเรื่องสั้นที่มีคุณภาพไว้ โดยพิจารณาถึงเป้าหมายประการหนึ่งของเรื่องสั้นว่า “เรื่องสั้นทำหน้าที่บันทึกสังคม”
          “แรงคลื่น” เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวน ๑๕ เรื่อง ในนิตยสารรวมเรื่องสั้นชื่อ ราหูอมจันทร์ Vol.1 กีต้าร์ที่หายไป ของอนุสรณ์ มาราสา นักเขียนชาวจังหวัดสตูลผู้สร้างสรรค์งานเขียนอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องสั้น “ครั้งเดียวไม่เคยรัก” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และผลงานรวมเรื่องสั้น เจ้านกบินหลา (๒๕๓๘) คลื่นไม่เคยลาฝั่ง (๒๕๓๙) และ เด็กปอเนาะ ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดวรรณกรรมเยาวชน ของสำนักพิมพ์ ต้นอ้อ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐
          เรื่องสั้น “แรงคลื่น” ของ อนุสรณ์ มาราสา เลือกใช้วัสดุในการดำเนินเรื่องอย่างน่าค้นหา โดยการใช้อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเชื่อมโยง เปรียบเทียบกับแรงคลื่นชนิดต่างๆ รวมทั้งแรงคลื่นธรรมชาติลูกใหญ่ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ได้อย่างโดดเด่น ด้วยการตีแผ่ความเป็นจริงในสังคมที่สอดคล้องไปกับฉาก แวดล้อมทางสังคมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนวิธิคิดของมนุษย์และผลกระทบของความเจริญทางวัตถุ หรือที่เรียกว่า
“ทุนนิยม” ที่เห็นความสำคัญของวัตถุมากว่าจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ นำเสนอความโลภ
และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ กับการเรียกร้องเพื่อครอบครองผลประโยชน์ที่คิดว่าตนควรจะได้
          เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงสุไลมาน ชายหนุ่มที่พยายามเรียกร้องสิ่งที่ตนคิดว่าไม่เป็นธรรมสำหรับตนเอง คือ เรื่องมรดกที่ผู้เป็นบิดาแบ่งให้ตนก่อนจะเสียชีวิต ด้วยการใช้สภาพอารมณ์ที่โดดเด่น คือ ความโกรธ เป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง
          “ผมไม่ชอบเลย มันเป็นของน่าละอาย มากกว่าเชิดหน้าชูตาให้ผู้เป็นเจ้าของ” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๕) อนุสรณ์ ได้เปิดประเด็นความขัดแย้งของเรื่องด้วยการให้ความรู้สึกที่กึกก้องอยู่ในใจของสุไลมาน ตัวละครที่ทำหน้าที่เสมือนเล่าเรื่องของตัวเอง ความไม่พอใจใน “เรือนไม้ชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ราคาไม่กี่ตังค์” ทรัพย์สินที่บิดามอบไว้ให้ก่อนเสียชีวิต เกิดขึ้นด้วยความโกรธ แต่เขาก็จำต้องรับมันด้วยเหตุว่าเป็นธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา “บ้านโบราณ” อาจเป็นตัวแทนของบิดาผู้ล่วงลับ ที่ทิ้งไว้เพียงความหวังและคำสอนว่า ให้พี่น้องรักและพึ่งพาอาศัยกัน  แต่ท้ายที่สุดความไม่พอใจในสิ่งที่ตนได้รับและความต้องการทรัพย์สินที่มีค่าของสุไลมาน ก็ทำลายความเชื่อและความเคารพในคำพูดของบิดา ด้วยความคิดว่าจะขายบ้านโบราณหลังนั้นและทรัพย์สินทั้งหมดและเอาเงินมาแบ่งกับพี่ชาย ถึงตอนนี้ความเคารพในคำพูดและคำตัดสินที่ต่างถือว่าเป็น “วาจาสิทธิ์” ของบิดา ได้ยุติลงจากจิตใจของสุไลมานจนหมดสิ้น ความโลภก่อตัวขึ้นแทนที่ และกลายเป็นความโกรธที่มีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น
          ความโกรธ ของสุไลมาน ปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เขาทราบว่า บิดาจะยกที่ดินติดถนนและโรงแรม ให้กับพี่ชาย เพราะเขารู้ดีว่าวันหนึ่งเจ้าของโรงแรมต้องมาขอซื้อเพื่อขยายกิจการในราคาแพงลิบลิ่ว “เอาเปรียบกันชัดๆ ผมตะโกนลั่นในใจ หากแต่เก็บงำความไม่พอใจอยู่ในใจไม่แพร่งพราย” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๖) “ผมอยากหัวเราะดังๆ ดินที่อ่าวต้านนุ่นที่ป๊ะว่านั้น มันเป็นดินเปล่าไม่มีอนาคต อีกนานกว่านักธุรกิจที่ดินจะต้องการ ขาดๆ เกินๆ ที่ว่า บังและป๊ะกำลังเอาเปรียบผมอยู่โทนโท่” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๖) การไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินมีค่าที่ควรจะได้ ทำให้มนุษย์รู้สึกว่า “เป็นความขาดทุนเสียหาย เสียเปรียบ” หากลองคิดใคร่ครวญในแนวศาสนาโดยมิเจาะจงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ก็จะพบว่าทั้งเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม เป็นซิกซ์ หรือศาสนาใดๆ ล้วนแต่มุ่งทำลายความเห็นแก่ตัวในตัวมนุษย์ทั้งสิ้น การที่สุไลมานรู้สึกว่าตนถูกพี่ชายเอาเปรียบ พี่ชายเป็นผู้เห็นแก่ตัว ชี้ให้เห็นว่า ในที่สุดมนุษย์ก็มิได้เอาแนวทางของศาสนา คือการทำลายความเห็นแก่ตัวมาใช้ แต่กลับเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นของขาดทุนเสียหายสำหรับตน เพราะคิดว่าหากเราไม่เห็นแก่ตัวเราก็จะเสียเปรียบ คนที่เห็นแก่ตัวเขาก็ได้เปรียบได้ประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ว่า ไม่มีใครกล้าที่จะไม่เห็นแก่ตัว ฉะนั้นสิ่งที่อนุสรณ์ พยายามเสนอผ่านอารมณ์และมุมมองของสุไลมานตอนนี้คือ เพื่อให้มนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ รู้จักกับศัตรูตัวฉกาจของจิตใจที่จะนำไปสู่ความโลภ สิ่งนั้นคือ ความเห็นแก่ตัว นั่นเอง
          “อุวะ แล้วทำไมไม่พูดตอนป๊ะอยู่เล่า? มาพูดตอนนี้แล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ป๊ะอุตส่าห์ส่งแกไปเรียนปอเนาะสามปีตามที่แกอยากเรียน กลับมายังงกอยู่กับเรื่องสมบัติ ป๊ะรู้จะเสียใจขนาดไหน เรียนศาสนาเสียเปล่า แต่มีความคิดเป็นเด็กอมมือ...” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๙) แม้มนุษย์จะได้รับการศึกษาสูงเพียงไร การศึกษาก็มิได้ขัดเกลาให้กิเลส ความโลภ และความเห็นแก่ตัวลดลงจากจิตใจมนุษย์เลย เมื่อจิตใจของมนุษย์ถูกครอบงำด้วยอำนาจของความเจริญทางวัตถุในสังคมหรือที่เรียกว่า “วัตถุนิยม” ก็เสมือนฟืนไม้เชื้อเพลิงอย่างดีที่สุมไฟแห่งกิเลส ความโลภและความเห็นแก่ตัวในจิตใจมนุษย์ให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ลุกลามและเผาผลาญจิตอันสงบ ปราศจากกิเสสและความเห็นแก่ตัวจนมอดดับสิ้น ยิ่งมนุษย์มีการศึกษาสูงเท่าใด ความเจริญทางวัตถุก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อความเจริญทางวัตถุสูงขึ้นเพียงไร ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์โลกก็ย่อมเพิ่มขึ้นเท่านั้นเช่นกัน
         
          ด้วยอำนาจของสังคมระบบ “ทุนนิยม” ที่เป็นตัวกำหนดระดับกิเลสในจิตใจของมนุษย์ เพราะยิ่งวัตถุเจริญไปเท่าไร ก็ยั่วยวยให้มนุษย์ขวนขวายเพื่อการครอบครองสรรพสิ่งบนโลกเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในที่สุดก็กลายเป็นความละโมบโลภมาก มุ่งแต่จะกอบโกย แก่งแย่งแข่งขันกัน และเมื่อมนุษย์ต่างแก่งแย่งกันเพื่อให้ตนได้มาซึ่งสิ่งทีปรารถนาจะครอบครองเพื่อสนองวามต้องการของตนเอง  เมื่อนั้นความสันติสุขและสันติภาพก็จะเลือนหายไปจากสังคม
          “ผมสั่นเทิ้มด้วยความโกรธ พี่น้องฆ่ากันได้เพราะแย่งสมบัติ ผมได้ยินเสียงนั้นแว่วมาแต่ไกล ไม่นึกเลยว่าจะมาประสบด้วยตัวเองสักวัน” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๙)
          “แววตาของพี่ชายร่วมสายเลือดของผมเหมือนศัตรูคู่แค้น หาใช่พี่น้องคลานตามกันมาไม่” (อนุสรณ์  มาราสา : ๒๒๘)
          นายหน้าที่ดินสองคนที่เดินออกจากบ้านพี่ชายของสุไลมาน กับคนในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยที่เลือกขายที่ดิน เพื่อปรับตัวในกระแสการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวแทนของ “ระบบทุนนิยม” และผู้ยอมรับในระบบสังคมดังกล่าว ระบบสังคมที่มนุษย์เห็นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่ทำลายความสงบสุขและสันติภาพ แล้วนำไปสู่การแย่งชิงเพื่อการครอบครองทรัพย์สินเงินทองและวัตถุที่ต้องการ พี่น้องที่เกือบฆ่ากันตายเกิดขึ้นเพราะใจมนุษย์กระหายอยากวัตถุที่เจริญเหล่านั้น เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง อนุสรณ์ พยายามชี้ให้เห็นว่าเมื่อความเจริญทางวัตถุมีมากขึ้น สันติสุข และสันติภาพ จะยิ่งเลือนหายไปจากสังคมแล้วจะเกิดการสู้รบการแก่งแย่งในที่สุด ความเจริญจึงกลับกลายมาเป็นอุปกรณ์ของอาชญากรรมทำลายความสงบสุขในสังคม ฉะนั้น ศัตรูอันฉกาจของมนุษย์คือ กิเลส ความโลภ อันเกิดจากความเจริญทางวัตถุที่เรายับยั้งมันไม่ได้นั่นเอง
ประโยคสำคัญในความคิดของสุไลมานว่า
          “สามปีเต็มๆ ในปอเนาะ ได้สอนอะไรให้ผมบ้าง หากไม่ใช่เรื่องราวการมีชีวิตอยู่ก่อนที่ชีวิตจะสิ้นลมปราณ นอกจากปฏิบัติศาสนกิจกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่จะให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และญาติพี่น้องต้องเป็นคนแรกๆที่เราต้องกระทำ ผมทิ้งตำรานั้นไปอยู่เสียที่ไหน?” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๓) ประโยคดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ความเจริญทางวัตถุ คือเครื่องกระตุ้นกิเลส ความโลภ และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้หายไปเสียแล้วจริงๆ ทิ้งไว้เพียงร่องรอยความขัดแย้งระหว่างพี่น้องที่สุไลมานคิดว่าไม่สมควรให้อภัย นับเป็นประโยคอีกหนึ่งประโยคที่แสดงแนวคิดที่ชัดเจนของอนุสรณ์ ก็กล่าวได้
         
นัยเชิงสัญลักษณ์ : ความโกรธ ดั่ง แรงคลื่น
          ลักษณะที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือ สภาพอารมณ์ของตัวละครผู้เล่าเรื่องอย่าง
สุไลมาน ที่อนุสรณ์บรรจงสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ สภาพอารมณ์โกรธ ปรากฏในเรื่องอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเรื่อง โดยการนำ “คลื่น” ที่ซัดเข้าหาฝั่งด้วยความคุ้มคลั่งอย่างไม่ลดละมาเป็นสัญลักษณ์แทนสภาพอารมณ์โกรธของสุไลมาน เช่น   
          คลื่นบ้าก่อตัวขึ้น คลื่นนี้ไม่สงบลงง่ายๆหรอก...” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๙)

          “ผมเห็นคลื่นแห่งความโกรธกำลังก่อตัวขึ้นมา เป็นคลื่นสีดำยอดสูงที่พร้อมกระหน่ำซัดสาดสิ่งที่กีดขวางเบื้องหน้าให้เรียบ...” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๑)

          “คำพูดของก๊ะสะใภ้ที่พรั่งพรูออกมา ราวกับเป็นเขื่อนกั้นกระแสคลื่นโกรธของผมได้ชั่วขณะหนึ่ง” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๒)
          สภาพอารมณ์โกรธของสุไลมานที่ใช้ “แรงคลื่น” เป็นสัญลักษณ์ ชี้ให้เห็นว่า “อำนาจของแรงคลื่น ดั่งแรงแห่งความโกรธที่เกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัว ความโลภ และความเจริญทางวัตถุ” ยังผลให้ความโกรธนั้นทรงพลังอำนาจยิ่งกว่าแรงคลื่นอื่นใด และก่อตัวเป็นคลื่นแห่งอารมณ์ที่ยิ่งใหญ่มาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องให้ถอยห่างออกจากกัน
          แต่แล้วในที่สุด คลื่นบ้า คลื่นความโกรธ และคลื่นอารมณ์ ของสุไลมานที่ก่อตัวขึ้นอย่างมีพลังอำนาจพร้อมทำลายล้าง ค่อยๆสงบลง เมื่อสุไลมานทราบความจริงว่าพี่ชายที่ตนสาดคลื่นอารมณ์ใส่อย่างหนักหนานั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้ส่งเสียตนเรียนจนจบปอเนาะ ถึงตอนนี้คลื่นอารมณ์ในใจของสุไลมานได้สงบลงแล้ว เขามีโอกาสได้ทบทวนเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นอีกครั้ง กระทั่งเขาค้นพบถึงสิ่งที่เขาต้องทำต่อไปนั่นคือ การขอยกโทษจากพี่ชายผู้แสนดี และ “การสารภาพผิดกับองค์อัลลอฮ์ ผู้ทรงเห็นในสิ่งที่เปิดเผยและเร้นลับ ให้พระองค์ได้ยกโทษแก่ความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับพี่ชายร่วมสายเลือด” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๒-๒๓๓) จังหวะของเรื่องดำเนินไปอย่างช้าๆ ฉากหรือแวดล้อมของตัวละครคือสุไลมาน ต่างอยู่ในความสงบนิ่ง อารมณ์ของเขาเย็นลงอย่างไม่น่าแปลกใจ เขาได้คิดทบทวนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาพความทรงจำในวัยเด็กของเขากับพี่ชายเคลื่อนผ่านเข้ามาในห้วงคำนึงของสุไลมาน
          กระทั่ง! จังหวะของเรื่องได้ดำเนินขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสุไลมานพาตัวเองหลุดออกจากห้วงคำนึงเหล่านนั้น แล้วเร่งฝีเท้าเดินลงจากเนินทรายไปยังท่าเรือที่พี่ชายมักมาขึ้นฝั่ง การดำเนินเรื่องเพิ่มระดับความเร็วขึ้นอีกระลอก เมื่อสุไลมานต้องพบกับผู้คนที่ต่างวิ่งสวนทางตนออกมาอย่างอลม่าน พร้อมกับคำบอกเล่าอย่างตกใจและเหนื่อยหอบว่ามีคลื่นใหญ่เกิดขึ้นที่ท่าเรือ ในที่สุดคำขอโทษของสุไลมานก็สายเกินไปเสียแล้ว พี่ชายของเขา อยู่ในสภาพของร่างที่ไร้วิญญาณ 
          คลื่นยักษ์ได้ทำลายท่าเรือ บ้านเรือน ร้านค้า และเรือพังเสียหาย คลื่นยักษ์ได้คร่าชีวิตผู้คนเคราะห์ร้ายไปหลายชีวิตรวมทั้งพี่ชายของสุไลมานด้วย และที่สำคัญคือคลื่นยักษ์ได้ชะล้าง กลืนกิน “คำขอโทษ” ของ
สุไลมานที่จะมอบแก่พี่ชายของเขา ลงไปในทะเลด้วยเช่นกัน
          ในเวลานี้ สัญลักษณ์ที่อนุสรณ์แทนใช้แทน ความโกรธ นั่นคือคลื่นชนิดต่างๆในจิตใจของสุไลมาน ได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้ง กลับกลายเป็นคลื่นยักษ์สึนามิที่สาดซัดทำลายสิ่งต่างๆที่อยู่ตรงหน้า รวมทั้งพี่ชายของสุไลมานด้วย และแล้วความโกรธของสุไลมานก็ได้คร่าชีวิตพี่ชายที่แสนดีของเขาเองในที่สุด
          อนุสรณ์ ใช้ “คลื่นสึนามิ” เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจกการทำลายล้างของความโกรธ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว และอำนาจของระบบทุนนิยม ระบบของความเจริญทางวัตถุ ที่เข้าทำลายล้างทุกอย่างให้หายไปในชั่วพริบตา ทั้งทรัพย์สินที่มนุษย์พยายามแย่งชิงกัน ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จนอาจเป็นคำตอบให้กับสุไสมานต่อคำถามที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแรงคลื่น “นี่มันเป็นแรงคลื่นชนิดใดกัน ที่ได้สร้างความหายนะได้เช่นนี้?” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๔) คำตอบคือ คลื่นอารมณ์และคลื่นพลังอำนาจทางจิตใจในความโลภ การแย่งชิง และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์อย่างเขานั้นเอง
          “แรงคลื่น” เสมือนเงาสะท้อนสังคมให้เห็นถึงผลกระทบของระบบของวิธิคิดแบบทุนนิยม ที่ความเจริญทางวัตถุ เข้ามากำหนดความคิดของมนุษย์ เป็นความเจริญอย่างบ้าคลั่ง ที่ยิ่งเจริญมาเพียงไร ความเจริญนั้นก็จะกลับกลายป็นเครื่องมือของอาชญากรรมมำทำลายความสงบสุขและความสันติสุขของสังคม
         
          เรื่องสั้นเรื่องนี้กระตุ้นให้ผู้อ่าน ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีการใช้ชีวิตมาเป็นความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีและเป็นอยู่ ถ่อยห่างความเจริญทางวัตถุ เพื่อชะลอให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ให้ดำเนินอย่างช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทบทวนวิถีเก่าที่เคยเป็นอยู่ แต่เดิมแม้ไม่มีไฟฟ้า ก็หุงข้าวได้ด้วยฟืน ตักน้ำได้จากบ่อ พอมีไฟฟ้า ก็ต้องใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้า ต้องหุงข้าด้วยหม้อไฟฟ้า ต้องมีโทรทัศน์วิทยุ ที่บรรจุรายการกิเลสเพื่อยั่งยุให้จิตใจของมนุษย์สร้างกิเลสเหล่านั้นขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตนอย่างไม่สิ้นสุด และกระตุ้นให้มนุษย์พึงระลึกไว้เสมอว่า

“ความเจริญที่ควบคุมไม่ได้ คืออันตรายที่สุดสำหรับมนุษย์”

บรรณานุกรม
        กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, ราหูอมจันทร์ Vol.1 กีต้าร์ที่หายไป.สำนักพิมพ์นาคร, ๒๕๔๙

* นายวิวัฒน์  ทัศวา นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

บทวิจารณ์เรื่องสั้น "รากเหง้า" ของสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ


“รากเหง้า” : ภาพสะท้อนความคิดมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม
                                                         โดย นายวิวัฒน์   ทัศว



          “รากเหง้า” ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นกสีเหลือง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวน ๑๑ เรื่อง ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ รากเหง้า ของ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ที่เลือกวัสดุในการดำเนินเรื่องอย่างน่าค้นหา โดยการผูกปมความคิดย้อนในตัวเองและนำพาตัวเองเพื่อไปคลายปมความเป็น รากเหง้า และสิ่งที่เป็นตัวตน โดยการตีแผ่ความเป็นตัวตนท่ามกลางความขัดแย้งของฉากหรือแวดล้อมทางสังคม สะท้อนวิธิคิดของมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม ที่ให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ นำเสนอความพยายามของมนุษย์ในการดิ้นรน แสวงหาผลประโยชน์เพื่อบำรุงบำเรอความสุขของตัวเอง
          เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงชายคนหนึ่งที่มีความพยายามค้นหารากเหง้าของตัวเอง ที่เขารู้สึกว่านับวันจะยิ่งถอยห่างและเลือนรางไป การค้นหารากเหง้าความเป็นตัวตนของเขา ทำให้เขารู้จักตระกูลของตัวเองและได้พบกับญาติผู้ใหญ่คนเดียวของตระกูลที่ยังเหลืออยู่ “ทำไมผมถึงไม่เคยอยากรู้ ทำไมพ่อกับแม่ถึงไม่เคยเล่าให้ลูกๆฟัง ผมไม่รู้ว่าสิ่งนี้มนุษย์จำเป็นต้องคิดถึงมันหรือไม่ มันควรจะถูกทิ้งให้หายไปกับกาลเวลา เป็นความลับอันมืดมนอนธกาล หรือว่าอย่างไร” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๑๘) สุทธิพงษ์ ได้ย้อนแย้งความรู้สึกของตนในการดำรงชีวิตโดยปราศจากต้นตอของชีวิต แต่การค้นพบคำตอบของเขาทำให้เขาพบว่า อันที่จริงเขามี “รากเหง้าอีกอันหนึ่งที่ควรจะค้นหาให้รู้แท้ ไม่น้อยไปกว่ารากเหง้าอื่นใด” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๕) รากเหง้า เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งถึงจุดกำเนิดแห่งชีวิตที่เคยผสมผสานกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว หากชีวิตเราเองคือผลผลิตอย่างหนึ่งของธรรมชาติเช่นเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็ถูกสร้างมาพร้อมๆกันกับเรา
          การดำรงอยู่ของชายชราผู้มีความสัมพันธ์กับต้นตระกูลของตัวละครหลัก เป็นการดำรงอยู่ที่แตกค่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะการดำรงชีวิตของชายชรา เป็นการดำรงชีวิตที่แนบแน่นและเกื้อกูลกับธรรมชาติ ความสุขของชายชราคือ การดำรงอยู่ที่เป็นไปโดยไม่พยายามดิ้นรนไขว่คว้าอะไร เพราะความสุขสงบของชีวิตชายชราไม่ได้ผูกติดกับระบบเศรษฐกิจ ชายชราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการพึ่งพาธรรมชาติ เขาสามารถหาอาหาร ยารักษาโรคได้จากธรรมชาติที่เขาอาศัย อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ ชายชราอาจเป็นตัวแทนของของระบบ “อนุรักษ์นิยม” ที่นับวันจะยิ่งห่างหายไปจากสังคมไทย
          “ผมไม่สงสัยว่าทำไมคนเราจึงต้องอยู่ที่โน่น ที่นี่ ซึ่งต่างกัน แต่ผมอยากรู้จริงๆว่าที่ไหนหนอจึงจะเป็นที่ ที่ชีวิตควรดำรงอยู่อย่างแท้จริง” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๐) เมื่อระบบอนุรักษ์นิยมยังคงอยู่ ยังผลให้มีข้อจำกัดบางประการต่อการใช้ทรัพยากร มนุษย์จึงต้องดิ้นรนออกจากสังคมป่าและธรรมชาติ เพื่อเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยม เพราะเป็นสังคมที่เราแสวงหาผลประโยชน์ได้ไม่จำกัด
       
        การคงอยู่อย่างเกื้อกูลและแนบสนิทกับธรรมชาติของชายชราคือการคงอยู่ที่เป็นการพึ่งพาอาศัยกันของมนุษย์กับธรรมชาติ สะท้อนความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติที่เป็นสัจธรรม อันเป็นพื้นฐานและรากเหง้าของมนุษย์ “รากเหง้าที่แม้จะแคระแกร็นและโรยราแต่กลับเป็นรากที่เหยียดหยั่งลงไปในพื้นดินที่ลึกและมั่นคง แก่นไม้ยังคงยืนต้นตายตระหง่านท้าลมฝนและกาลเวลา” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๑) รากที่เหยียดหยั่งลึกลงไปนั้น เสมือนความคิดที่เป็นวิธีคิดในระบบอนุรักษ์นิยมที่พยายามยุติการไขว่คว้า แม้จะต้องต่อสู้กับอำนาจของระบบทุนนิยม แต่ก็ยังคง “ประกาศความเป็นตัวตนเคียงคู่กับความเป็นจริงที่ผันแปรไป” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๑) แก่นและรากเหง้าของต้นไม้คือ การไม่หลงลืมหรือละเลยพื้นฐานของชีวิตและความสัมพันธ์ของมนุษย์ เป็นการคงอยู่เพื่อดำรงรักษาและประกาศความเป็นรากเหง้า ความเป็นตัวตนอย่างมั่นคง
          ขณะที่คนรุ่นหลังต่างยินยอมพร้อมใจกันเป็นยอด เบื้องล่าง “รากผู้ให้ชีวิต” กลับมีแต่จะเหยียดหยั่งแทงลึลงไปในเนื้อดินเป็นภาพที่ขัดกันโดยสิ้นเชิง การยอมรับและหลงใหลในระบบทุนนิยมเสมือนกับการพร้อมใจกันเป็นยอดไม้ ละเลยความสนใจในรากเหง้าความเป็นพื้นฐานของตน ที่นับวันก็จะยิ่งถอยห่างความเป็นตัวตนออกไปทุกขณะ เป็นความพร้อมใจกันเดินสวนทางทางความคิดของวิธิคิดแนวทุนนิยมกับวิธีคิดแนวอนุรักษ์นิยม
          การสวนทางทางความคิดและการเปลี่ยนแปลงไปของค่านิยม ถูกนำมาสะท้อนผ่านฉากของเรื่อง   สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ บรรยายฉากอย่างโดดเด่น ผู้อ่านจะได้สัมผัสเสมือนว่าได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ เขาเลือกใช้ภาษาสื่อ ภาพ ความคิดและอารมณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกใช้คำที่ได้ใจความ สื่อความหมายเหมาะเจาะ ในการพรรณนาฉากกระท่อม กับ “สีสันสวยสดของผลไม้โบว์ที่แสนจงใจประกอบขึ้นเป็นตะกร้า ช่างขัดกันเหลือเกินกับหม้ออลูมิเนียมสีเขม่าบุบบู้บี้ และถ้วยสังกะสีเก่ากะเทาะหย่อมเล็กๆที่กองอยู่ท้ายกระท่อม” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๑) ภาพการผลักตะกร้าผลไม้คืนกลับมาของชายชรา และบอกด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า “กินไม่เป็น”   เป็นฉากและคำพูดที่สะท้อนค่านิยมที่แปรเปลี่ยนไป และนำไปสู่การถอยห่างออกจากรากเหง้าดั้งเดิมของตน เพราะวัฒนธรรมที่ต่างที่ ต่างมิติเวลา ที่ระบบทุนนิยมครอบงำความคิดของมนุษย์ได้เสกให้พื้นที่สองแห่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วราวกับมีเวทมนต์ การประกอบขึ้นอย่างจงใจของตะกร้าผลไม้ เสมือนกับความจงใจรับค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นหลัง
          คำพูดของชายชราที่ว่า “กินไม่เป็น” เป็นคำพูดที่กระตุ้นให้ชนรุ่นหลังต้องกลับมาทบทวนวัฒนธรรมการกินการอยู่ของตนที่ระบบทุนนิยมได้นำนวัตกรรมมาแปรรูปอาหารจนกลายเป็นของใหม่ เป็นเครื่องกระป๋องที่คงความเป็นธรรมชาติของมันน้อยมาก แอปเปิ้ล คือผลไม้เมืองนอกที่ผ่านการขนส่งด้วยระบบการขนส่งที่รวดเร็วและสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เบื้องหลังภาพตะกร้าอันสวยงามบรรจง ยังซ่อนอะไร้ไว้อีกมากมายเกี่ยวกับการเข้ามาแทนที่ของยุคสมัย การก้าวกระโดดจากยุคเกษตรกรรมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม
          นอกจากนี้ “ภูเขาขี้เลื่อยมหึมา ใกล้ๆโรงจักรมีบ้านปีกไม้ทรงตะวันตกที่ดูประณีตและเจตนาตั้งอยู่” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๓) ระบบทุนนิยมส่งมนุษย์เข้าไปบุกรุกต้นไม้และธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นแหล่งกำเนิด ต้นน้ำ อากาศ อาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ ล้วนแล้วคือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น แต่บัดนี้กลายเป็นแค่ไม้ที่ไม่มีรากเพื่อส่งขายแก่ระบบอุตสาหกรรมไม้ บ้านปีกไม้ทรงตะวันตกอันประณีตและจงใจสร้างขึ้นกับกระท่อมหลังเก่าเล็กๆของชายชรากลางป่าใหญ่ต่างกันโดยสิ้นเชิง น่าสนใจว่าทั้งบ้านปีกไม่ทรงตะวันตกและกระท่อมของชายชราอยู่ท่ามกลางสภาพแวดท้อมเดียวกันนั่นคือป่าไม่และธรรมชาติ จะต่างกันก็ตรงที่บ้านปีกไม้ทรงตะวันตกอยู่ในสถานที่ที่เคยเป็นป่าเท่านั้นเองแต่การดำรงชีวิตและความสงบสุขกลับต่างกัน ที่ชายชราอยู่ไม่มีความเคลื่อนไหวของการดิ้นรนไขว่คว้า ผิดกับที่ตั้งของบ้านปีกไม่ทรงตะวันตกกลับเห็นภาพและได้ยินเสียงของการไขว่คว้า สิ่งนี้สะท้อนว่าเรากำลังยินยอมและน้อมรับความเป็นอยู่ในระบบทุนนิยมอย่างเต็มใจ  
        “เสาทีวีแทงขึ้นไปในอากาศดูเหมือนดอกหญ้าในท้องทุ่ง” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๔) สิ่งเราเคยฟังเคยชมในอดีต ภาพของหนังตะลุงมโนราห์ ลำตัด หมอลำ มหรสพชั้นกวีของไทย ถูกแทนที่ด้วยโทรทัศน์ เป็นสื่อล้างสมองชั้นดี เพียงแค่ปิดทีวี คอมพิวเตอร์เราก็พร้อมจะถูกกระตุ้นโดยกิเลส อำนาจใฝ่ต่ำ หรือด้านมืดอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าใครจะเหนี่ยวรั้ง ขัดขืน ทัดทานมันได้มากกว่ากัน เทคโนโลยีต่างๆมีผลในการกล่อมเกลาให้นิยมยินดีกับระบบเงินคือ เงินคือพระเจ้า
          “เกือบหมื่อนไร่ นายหัวจะลงปาล์มทั้งหมด” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๔) คำพูดของคนงานชาวอีสาน กับสายตาแห่งความชื่นชมยินดี ภาคภูมิใจกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงจากป่าธรรมชาติไปเป็นป่าที่สร้างขึ้นเพื่อธุรกิจและผลประโยชน์ สะท้อนว่า แม้กระทั่งระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมที่เคยพึ่งพิงธรรมชาติและเกษตรกรรมอย่างพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน การเกษตรที่กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ระบบที่ต้องรองรับการเพาะปลูกเพื่อเศรษฐกิจ
          ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ชมละครชุมชนของกลุ่มเยาวชนตะขบป่า จากจังหวัดนครราชสีมา เมื่อไม่นานมานี้ในงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ๒๕๕๔ ละครของเขามีแนวคิดสอดคล้องกับเรื่องสั้นเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการสะท้อนสังคมในแง่ ทรัพยากรป่าไม้ที่กำลังหายไปของผืนป่าดงพญาเย็นที่เคยอุดมสมบูรณ์ ความร่มเย็นดั่งชื่อของผืนป่ากลับค่อยๆเลือนหายไป เมื่ออำนาจของระบบทุนนิยมเข้าครอบงำจิตใจของมนุษย์จนมืดบอด ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์จึงถูกทำลาย กลายเป็นเขาหัวโล้น มีคฤหาสน์สวยหรูตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน กระตุ้นให้เรารู้สึกว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงและเข้าใกล้เรามากขึ้นแล้วจริงๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาเกี่ยวกับทรัพยากรทางป่าไม้เป็นอีกแง่มุม ของการทำลายโลก ณ ปัจจุบันเรามิอาจปฏิเสธได้ว่า ผลกระทบจากระบบทุนนิยมเกิดขึ้นแล้ว และทุกคนต่างรองรับปัญหาด้วยน้ำตา อุทกภัยที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะการน้อมรับต่อการดำรงชีวิตด้วยระบบทุนนิยมของเราเองก็อาจกล่าวได้
          การค้นหารากเหง้าของตัวเราเอง ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคม “แสงสีแห่งอารยธรรม” คือสิ่งลวงตาที่แฝงด้วยมัจจุราชที่เข้าครอบงำทุกหนแห่ง หากจิตใจของเราไม่พอใจ และไม่รู้จัก “พอเพียง” ในสิ่งที่สังคมเรามีและเป็นอยู่ เราก็จำต้องก้าวจากอารยธรรมที่แท้จริงมากขึ้นเท่านั้น การหิวอาหารกระหายน้ำ คงมิใช่อาหารบนโต๊ะหรูใต้แสงสลัวอีกต่อไป  หากสุนทรียภาพแห่งเสียงและท่วงทำนองคือหมู่นกกา คงมิใช่ เสียงเพลงที่ขับร้องด้วยอารมณ์รุนแรงอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นภาพของข้าพเจ้าที่มีความรู้สึกนึกคิดร่วมกับเรื่องสั้นเรื่องนี้ ที่ทำให้ผู้อ่านถอยห่างจากระบบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัฒน์ สิ่งที่สามารถยับยั้งการหลงใหลกับระบบทุนนิยมคือการกลับไปค้นหารากเหง้าที่หลงเหลืออยู่ มิใช่เพียงการหันกลับไปมองพฤติกรรมของปู่ย่าตายาย แต่ควรทบทวนวิถี ความเชื่อ ระบบความคิด ที่คงหลงเหลืออยู่ แม้ว่ามันจะพังทลายลงเกือบหมดแล้วก็ตาม หากชนรุ่นลูกรุ่นหลานไม่รู้คุณค่าการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน มองไม่เห็นห่วงแห่งความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับมนุษย์ มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติและมนุษย์กับสังคมที่ล้วนแล้วส่งผลได้เสียต่อกัน หากมนุษย์พิกลกิการทางความคิดกำหนดความคิดผิดทิศผิดทาง ธรรมชาติแวดล้อมล้วนได้รับผลกระทบไปด้วย เฉกเช่น “คนงาน” ที่ทำลายรากเหง้าของตนเอง เพราะคนงานคือ เครื่องมือที่ถูกสั่งการโดยนายจ้าง คนงานต้องทำงานเพื่อแลกกับเงิน โดยมิได้ตริตรองถึงสิ่งอื่นใดนอกจากสิ่งแลกเปลี่ยน แลกกับการทำลายโลกอย่างสมใจอยากของระบบทุนนิยม
          สิ่งที่ทำได้เวลานี้คือ “การปลูกฝัง” ให้คนรุ่นหลังรู้จักและรักในรากเหง้าดั้งเดิมของตน ที่สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ได้สอดแทรกไว้ในตัวชายชราว่าการอยู่ของแนวความคิดอนุรักษ์นิยม เป็นไปเพื่อยืดเวลาไม่ให้ระบบทุนนิยมดำเนินไปอย่างคล่องตัว ถึงแม้ใครเขาจะมองว่าพวกอนุรักษ์นิยมคือคนแก่ ดักแด้ ดักดาน ก็ตาม “ผมคิดถึงชายชราผู้ฝังตัวเองอยู่บนภูเขาราวดักแด้ ดักดาน ใครบ้างที่เกิดมาเพื่อยุติการไขว่คว้าดิ้นรนอย่างแก” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๕)
        “รากเหง้า” เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนสังคมให้เห็นถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อ ประชาชน ระบบทุนนิยมทำให้ความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะต่างคนก็ มือใครยาว สาวได้สาวเอาบางทีคนเราก็ไม่มีทางเลือกที่มากนัก ทุกคนจำต้องหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเอง พยายามหาพื้นที่ทางสังคมให้ตนเองยืนอยู่ได้และเป็นที่ยอมรับจากคนในสังคม แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากการตกเป็นทาสของกระแสทุนนิยมที่ ไหลมาอย่างไม่ขาดสาย


                                                                            



บรรณานุกรม
         สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ. รากเหง้า. สำนักพิมพ์นกสีเหลือง, ๒๕๓๕.

ข้าพเจ้า


   ว.ทัศวา

                                                        วิวัฒน์ เจริญรุ่ง-               เรื่องไป ไกลแฮ
                                                    ทัศ นาพาการณ์ไกล              ทั่วหล้า
                                                   วา รีที่หลังไหล                     ไป่รู้ จบนา
                                                   เฉกเช่นสายน้ำใจ                   เผื่อแผ่ พ้องเพื่อน
                                                                                          โดย ว.ทัศวา