วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทวิจารณ์เรื่องสั้น "สัญชาตญาณมืด" ของ อ.อุดากร


“สัญชาตญาณมืด”
ความมืดบอดของจิตใจ
ท่ามกลางความเจริญทางวัตถุ
โดย วิวัฒน์ ทัศวา
          อ.อุดากร เป็นนามปากกาของ อุดม อุดาการ เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2467 ที่ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม การศึกษา เรียนหนังสือชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ หลังจบมัธยมศึกษาปี่ 6 จึงเรียนต่อในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วสอบเข้าเตรียมแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิชาแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช 
          พ.ศ.2478 ในปลายปีการศึกษาแรกของการเรียนวิชาแพทย์ ล้มป่วยด้วยโรคปอด ต้องพักการเรียน 2 ปี เพื่อรักษาตัว เมื่อครบกำหนดอาการยังไม่ปกติ จึงต้องลาออก
          หลังล้มป่วยจนเรียนแพทย์ไม่ได้ อ.อุดากรเสียใจมากเพราะเคยมุ่งหวังใช้วิชาแพทย์ช่วยเหลือชาวบ้านในชนบท จึงหันมาสนใจการเขียนอย่างจริงจัง พอดีจังหวะช่วง พ.ศ.2491 นิตยสารสยามสมัย จัดประกวดเรื่องสั้นโบว์สีฟ้า อ.อุดากร เขียนส่งมา 3 เรื่อง ได้แก่ ตึกกรอสส์ เกสราลิขิต และชำหนึ่ง ทุกเรื่องได้รับพิจารณาลงพิมพ์ และเรื่อง "ตึกกรอสส์" ได้รับรางวัลชนะเลิศ เมื่อได้รับความสำเร็จจากงานเขียนทำให้เขามีพลังใจมุมานะเขียนหนังสือแม้ยังเจ็บป่วย
          งานเขียนของ อ.อุดากร เป็นเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นในช่วงสมัยปี พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๓ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านมืดของจิตใจมนุษย์ที่ซุกซ่อนอยู่ แอบแฝงนัยยะทางการเมือง ตลอดจนความรักที่ไม่สมหวัง ออกแนวลึกลับน่าติดตาม และมาหักมุมเอาตอนท้ายเรื่อง
          “สัญชาตญาณมืด” เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นของ อ.อุดากร ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสยามสมัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่เลือกวัสดุในการดำเนินเรื่องอย่างน่าค้นหา โดยการดำเนินเรื่องที่ให้ตัวละครเล่าย้อนไปยังเหตุการณ์ที่แสดงถึงสัญชาตญาณมืดของมนุษย์ เป็นเรื่องสั้นที่ตีแผ่ ศีลธรรม โดยการหยิบยกประเด็นที่ว่า “ศีลธรรมของมนุษย์สิ้นสุดไปทุกขณะจากจิตใจของมนุษย์ ทุกระยะที่ความเจริญทางวัตถุได้ดำเนินไป”
(อ.อุดากร : ๓)
          ท่ามกลางความเจริญของสังคม ทั้งด้านการศึกษา ความเป็นอยู่และเทคโนโลยีต่างๆ ในทางกลับกัน มีสิ่งหนึ่งที่กลับตกต่ำลงอย่างไม่อาจต้านทานได้นั่นคือศีลธรรมและจิตใจของมนุษย์นั่นเอง ความเจริญทางด้านวัตถุมิได้เป็นตัวกล่อมเกลา ลดละความใคร่ หรือสัญชาตญาณมืดให้ลดน้อยลงจากจิตใจของมนุษย์ได้แม้แต่น้อย จนอาจเป็นข้อสรุปของประเด็นในเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะเป็นแก่นของเรื่องก็อาจกล่าวได้ นั่นคือประเด็นที่ว่า “ศีลธรรมของมนุษย์สิ้นสุดไปทุกขณะจากจิตใจของมนุษย์ ทุกระยะที่ความเจริญทางวัตถุได้ดำเนินไป”
(อ.อุดากร : ๓) ประเด็นดังกล่าวบ่งชี้ว่า เมื่อความเจริญทางด้านวัตถุรุกหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งศีลธรรมของมนุษย์ก็ลดลงและหมดสิ้นไปจากจิตใจของมนุษย์อย่างไม่อาจต้านทานได้เช่นกัน
          “ทำไมแกคิดว่า ผู้หญิงที่ยอมไปเที่ยวไหนๆกับมิตรสหายอย่างนี้ จำเป็นต้องจบลงด้วยการเป็นของผู้ชายที่พาไปอย่างนั้นเสมอหรือ” (อ.อุดากร : ๓) คำถามที่เกิดขึ้นจากการสนทนาของตัวละครสองตัวในเรื่องคือ นายแพทย์ชิน เวชภราดา กับ นายแพทย์ชาญ เพื่อนสนิท คำถามของนายแพทย์ชาญ เกิดขึ้นภายหลังที่เขาเห็น ธาดาเพื่อนอีกคนขับรถพาเพื่อนหญิงไปเที่ยวต่าวจังหวัด อ.อุดากร เลือกให้คำตอบของคำถามนี้ โดยการตอบผ่านการบอกเล่าของชิน ตัวละครที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ดำเนินเรื่องราวทั้งหมดว่า เป็นเพราะคนเราเกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณมืด ซึ่งหมายถึงความใคร่ที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคนนั้นเอง เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงต่างก็มีความใคร่และกิเลสด้วยกันทั้งสิ้น
          สัญชาตญาณมืดหรือความใคร่ของมนุษย์ เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การดำเนินเรื่องราว เพราะความเจริญของการศึกษา เทคโนโลยี และความเจริญด้านอื่นๆ เป็นความเจริญทางวัตถุที่รุกหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็มิได้ปรับระดับของจิตใจให้เจริญไปตามวัตถุเหล่านั้นเลย
          “สิ่งแวดล้อมที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นอย่างไรละ ภายใต้คำว่า อารยธรรมแผนใหม่ มนุษย์ได้ตั้งกฎเกณฑ์สำหรับสังคมขึ้นหลายประการ เขาได้พยายามเรียกมันในครั้งแรก และต่อมาตัวเองก็เชื่อสนิทว่ามันเป็นความเจริญซึ่งแท้จริงตรงข้ามเหลือเกิน...” (อ.อุดากร : ๓)  เมื่อระบบวัตถุนิยมกลายเป็น “อารยธรรมแผนใหม่” ที่มนุษย์เชื่อว่าเป็น “ความเจริญ” ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมันตรงข้ามกับความเป็นจริงอย่าสิ้นเชิง เพราะระบบอารยธรรมแผนใหม่นี้ ที่จริงแล้ว คือการที่คนในสังคมยอมรับและมองว่า เงินตราและวัตถุเป็นเครื่องวัดคุณค่าของคนแทนคุณธรรมจริยธรรม รวมไปถึงศีลธรรมด้วยเช่นกัน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เงินตราและวัตถุจึงกลายมาเป็นพระเจ้า จนที่สุดก็ไม่มีที่ว่าพอสำหรับศีลธรรมคุณธรรม ภายใต้อำนาจของ “อุปกรณ์เย้ายวน” จึงไม่แปลกเลยว่า เหตุใดเล่ามนุษย์จึงตกต่ำทางจิตใจและศีลธรรมเช่นนี้ อุปกรณ์เย้ายวนเสมือนพญามัจจุราชที่พยายามหลอกล่อหรือกระตุ้นให้มนุษย์ถอยห่างจากการยึดถือศีลธรรม เป็นเครื่องหมายแห่งความดี
          อ.อุดากร เชื่อมโยงประเด็นปัญหาความตกต่ำของจิตในและการถอยห่างจากศีลธรรมของมนุษย์ กับตัวอย่างเหตุการณ์ที่แสดงถึงสัญชาตญาณมืดของมนุษย์ การพัฒนาทางการศึกษา เป็นต้นเหตุของความเจริญทางด้านวัตถุที่มิได้กล่อมเกลา ยกระดับจิตใจมนุษย์ให้สูงชึ้น กระทั่ง “อุปกรณ์เย้ายวน” ทำหน้าที่เสมือนอิทธิพลจากวัตถุ ความใคร่และศีลธรรมจึงก่อตัวขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการหรือสัญชาตญาณมืดของตน
          การยกตัวอย่างเหตุการณ์ในเรื่อง อ.อุดากร กำหนดให้ แดงเลือกที่จะแต่งงานและจดทะเบียนกับดำเกิงชายคนรักที่แม้จะป่วยเป็นวัณโรค ในทางนิตินัยแล้วทั้งสองเป็นสามีภรรยากันโดยสมบูรณ์ แต่ในทางพฤตินัยไม่เป็นเช่นนั้น การแยกห้องนอนกันช่วยให้เข้าใจได้ว่าแดงและดำเกิงไม่ได้เป็นสามีภรรยากันในทางการกระทำหรือทางพฤตินัยจริงๆ ฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญพอที่จะทำให้แดงเปิดเผยสัญชาตญาณมืดของตนออกมา
          สัญชาตญาณมืดของแดง เริ่มต้นขึ้นภายหลังที่เพื่อนของดำเกิงและแฟนสาวเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับครอบครัวของเขา พฤติกรรมการแสดงออกทางความรักอย่างไม่ปกปิดและไม่ละอายของคู่รักที่มาอาศัยอยู่ในบ้าน เปรียบเสมือน “อุปกรณ์เย้ายวน” แดง ให้เปิดเผยสัญชาตญาณมืดของตนออกมา การอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแสดงออกและการตอบสนองทางเพศทำให้แดงไม่สามรถยับยั้งใจตนเองได้ อุปกรณ์เย้ายวนคือสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นดึงความใคร่ ความลุ่มหลง และกิเลสของมนุษย์ออกมา ความใคร่ ความลุ่มหลงหรือที่เรียกรวมๆว่า กิเลส นั้น เฉกเช่นหนึ่งพญามัจจุราชที่จะฉุดดึงจิตใจของมนุษย์ ให้ดำดิ่งลงไปสู่ความตกต่ำในทุกขณะที่ความเจริญทางวัตถุเจริญไปอย่างไม่หยุดยั้ง
          อ.อุดากร พยายามชี้ให้เห็นว่าศีลธรรมบางอย่างของมนุษย์อย่างแดง สามารถยับยั้งแดงไม่ให้มีความสัมพันธ์กับคนสวน ท้ายที่สุดสัญชาตญาณมืดก็สะสมและก่อตัวขึ้นด้วยอำนาจของ “อุปกรณ์เย้ายวน” จนทำให้ศีลธรรมเลือนหายไปจากจิตใจของมนุษย์ การที่แดงเลือกที่จะไม่มีอะไรกับนายแก้วคนสวนผิวสะอาด เพราะเธอเลือกที่จะไม่เปิดโอกาสให้คนคนหนึ่งได้โพนทะนาความชั่วของตนเองเมื่อใดก็ได้ ฉะนั้นเธอจึงเลือกที่จะสนองตอบต่อสัญชาตญาณมืดและความต้องการของตนด้วยการมี สุนัขเป็นชู้
          เมื่อความใคร่ กิเลส และสัญชาตญาณมืดเข้าครอบงำจิตใจของแดง จึงไม่น่าแปลกว่าเหตุใดแดงจึงเลือกมีสัมพันธ์กับสุนัข มาถึงตอนนี้ความหมายของการแต่งงานของแดงที่เคยบอกดำเกิงก่อนแต่งงานได้เปลี่ยนไปแล้ว “...โธ่ ดำเกิง การแต่งงานไม่ได้หมายถึงการที่เราจำเป็นต้องเป็นสามีภรรยากันตามความหมายของการแต่งงานทั่วๆไปนั้นเสมอไปนี่คะ การแต่งงานของเราหมายถึงเพียงความถูกต้องตามนิตินัยเท่านั้น ไม่ใช่ทางพฤตินัย เพื่อแดงจะได้อยู่ใกล้เธอ ได้รับใช้เธอได้เท่านั้นเอง...มันเป็นความสุขที่แดงยินดีจะปฏิเสธความสุขอื่นๆแม้จะได้หยิบยื่นมาจากฟ้า” (อ.อุดากร : ๖)
          “แดงยินดีจะปฏิเสธความสุขอื่นๆแม้จะได้หยิบยื่นมาจากฟ้า” ตอนนี้แดงได้ก้าวข้ามและฝืนกฎแห่งคำพูดของตนออกมาแล้ว ความหมายและความปรารถนาต่อการแต่งงานของเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยอำนาจจาก “อุปกรณ์เย้ายวน” ฉะนั้นเพียงแค่การได้ใกล้ชิด ได้รับใช้ดูแลคนที่แดงรักไม่เพียงพอสำหรับเขาอีกต่อไป แดงได้ค้นพบความปรารถนาใหม่ในการแต่งงานอีกประการของตัวเอง เขารู้สึกว่าถึงตอนนี้เพียงแค่ “ดอกไม้ แบบเสื้อ และการลูบไล้แผ่วๆอย่างทะนุถนอมของดำเกิงที่หลังมือ ที่ต้นแขน มันหาเพียงพอไม่สำหรับความต้องการของชีวิต”
(อ.อุดากร : ๗)  และแม้ว่า “มโนธรรมอาจจะยับยั้งความร้อนระอุในสายเลือดมนุษย์ไว้ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ภายใต้สีดำของสัญชาตญาณมืดที่ถูกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น มโนธรรมมีค่าน้อยเกินไป” (อ.อุดากร : ๗)  เพราะสัญชาตญาณมืดของแดงถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมจนแดงต้องเลือกที่จะสนองต่อความต้องการของสัญชาตญาณมืดของตนด้วยการมีสัมพันธ์กับสุนัขอัลเซเชียนของเขาเอง และในที่สุดอ.อุดากร ก็ชี้ให้เห็นว่า สุนัข ก็เป็นเสมือนสัญลักษณ์แสดงถึงความตกต่ำทางศีลธรมของมนุษย์ การยอมรับและเชื่ออย่างสนิทใจว่าความเจริญทางวัตถุในปัจจุบันเป็น ความเจริญ แต่บางครั้งมันอาจเจริญเกินความจำเป็นที่มนุษย์อย่างเราทุกคนต้องการ การศึกษาที่สังคมเห็นพ้องต้องกันว่า ยิ่งศึกษาสูงเพียงไรย่อมมีความรู้สูงเท่านั้น กลับไม่ได้มีส่วนในการขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้นได้แม้แต่น้อย หนำซ้ำรังแต่จะฉุดให้มนุษย์หลุดพ้นออกจากการยอมรับนับถือศีลธรรม ว่าเป็นสิ่งดีงามด้วยซ้ำไป
          “สัญชาตญาณมืด” เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึงศีลธรรมที่ตกต่ำลงของมนุษย์ ซึ่งเป็นเพราะความเจริญรุกหน้าไปทางวัตถุ สิ่งแวดล้อมหรืออุปกรณ์เย้ายวนที่กระตุ้นให้มนุษย์กระทำผิดศีลธรรม
          อ.อุดากร เลือกใช้สัญลักษณ์ในการดำเนินเรื่องที่สื่อถึงความตกต่ำของศีลธรรมในตัวมนุษย์ การมีชู้กับสัตว์อย่างสุนัขคือสัญลักษณ์ที่เขาเลือกใช้ เพราะการกระทำของแดงตัวละครในเรื่อง เสมือนกับว่ามนุษย์ได้ถอยห่างและเพิกถอนศีลธรรมทั้งปวง และเปิดโอกาสให้สัญชาตญาณมืดเข้ามาแทนที่ในจิตใจแทนศีลธรรมจนบอดสนิท พฤติกรรมการเสพสมกับสุนัขเสมือนกับการที่มนนุษย์นำจิตใจของตนให้ลงไปเกลือกกลั้วและจมลงไปกับความไม่มีศีลธรรม
          ท้ายที่สุดการกระทำของดำเกิงก็ยิ่งย้ำให้เห็นว่า แม้ว่าการศึกษาจะเจริญมากเพียงไร มนุษย์ก์ไม่อาจต้านทานอำนาจมืดที่เติบโตอยู่ในจิตใจของตนได้ เพราะแม้แต่ดำเกิงผู้ที่ได้รับการศึกษามาสูงพอ เมื่อเผชิญเข้ากับเหตุการณ์การกระทำของแดงภรรยาของตนกับสุนัข เสมือนเขาถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์เย้ายวน จนเขาเลือกที่จะเปิดเผยสัญชาตญาณมืดของตัวเองออกมา ด้วยการฆ่าภรรยาของตัวเอง ในที่สุด

บรรณานุกรม
อ.อุดากร (นามปากกา). ๒๔๙๓. “สัญชาตญาณมืด”, สยามสมัย รายสัปดาห์. ๓ (๒๗ มกราคม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น