วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทวิจารณ์เรื่องสั้น "แรงคลื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์


แรงคลื่น : ความเจริญที่ควบคุมไม่ได้ คืออันตรายที่สุดสำหรับมนุษย์ 
โดย ว.ทัศวา*

                วิวัฒนาการของวรรณกรรมปัจจุบันทั้งรูปแบบและเนื้อหามีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม เนื่องจากตั้งแต่วรรณกรรมยุคเริ่มแรก เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๔๓ กระทั่งมีวิวัฒนาการมาถึงยุควรรณกรรมเพื่อประชาชน อย่างในปัจจุบันนี้ ต่างก็มีรูปแบบและเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยกันทั้งสิ้น
          เรื่องสั้น นับเป็นวรรณกรรมรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในวงการนักอ่านและนักเขียน ทั้งนี้ด้วยความก้าวหน้าทั้งรูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรมทำให้วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นได้รับความนิยมอย่างมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเรื่องสั้นเป็นวรรณกรรมที่เสนอความคิดได้กะทัดรัด กระจ่างชัดตรงเป้าหมายกว่าเรื่องยาว และนอกจาก เรื่องสั้นจะให้ความบันเทิงเริงใจแล้วยังเป็นวรรณกรรมที่รวมทั้งเนื้อหาสาระ ข้อคิด และทัศนคติต่างๆ แก่ผู้อ่าน
          อย่างไรก็ตามหน้าที่สำคัญของเรื่องสั้นที่จะมิกล่าวถึงเสียมิได้คือ การจดบันทึกความเป็นไปของยุคสมัยใดสมัยหนึ่งเอาไว้เป็นข้อคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อสังคม ทั้งยังเป็นข้อมูลหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ภาวะสังคมในยุคสมัยนั้น เป็นการเรียนรู้อย่างลงลึกและซึมซับ เพราะศิลปะแห่งเรื่องสั้นทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การจดบันทึกไว้ทั้งเรื่องราว เหตุการณ์และอารมณ์ความรู้สึก สาเหตุที่กล่าวมายืดยาวนี้ไม่ใช่จะเพียงจะอธิบายว่าเรื่องสั้นนั้นคืออะไร แต่เนื่องจากหนังสือที่จะวิจารณ์ต่อไปนี้มีลักษณะของเรื่องสั้นดังที่กล่าวมาข้างต้นอยู่พอสมควร
          ราหูอมจันทร์ Vol.1 กีต้าร์ที่หายไป นิตยสารรวมเรื่องสั้นรายฤดูกาล ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นาคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นับเป็นนิตยสารรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งที่จัดทำขึ้นด้วยการรวมรวมเรื่องสั้นที่มีคุณภาพไว้ โดยพิจารณาถึงเป้าหมายประการหนึ่งของเรื่องสั้นว่า “เรื่องสั้นทำหน้าที่บันทึกสังคม”
          “แรงคลื่น” เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวน ๑๕ เรื่อง ในนิตยสารรวมเรื่องสั้นชื่อ ราหูอมจันทร์ Vol.1 กีต้าร์ที่หายไป ของอนุสรณ์ มาราสา นักเขียนชาวจังหวัดสตูลผู้สร้างสรรค์งานเขียนอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องสั้น “ครั้งเดียวไม่เคยรัก” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และผลงานรวมเรื่องสั้น เจ้านกบินหลา (๒๕๓๘) คลื่นไม่เคยลาฝั่ง (๒๕๓๙) และ เด็กปอเนาะ ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดวรรณกรรมเยาวชน ของสำนักพิมพ์ ต้นอ้อ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐
          เรื่องสั้น “แรงคลื่น” ของ อนุสรณ์ มาราสา เลือกใช้วัสดุในการดำเนินเรื่องอย่างน่าค้นหา โดยการใช้อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเชื่อมโยง เปรียบเทียบกับแรงคลื่นชนิดต่างๆ รวมทั้งแรงคลื่นธรรมชาติลูกใหญ่ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ได้อย่างโดดเด่น ด้วยการตีแผ่ความเป็นจริงในสังคมที่สอดคล้องไปกับฉาก แวดล้อมทางสังคมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนวิธิคิดของมนุษย์และผลกระทบของความเจริญทางวัตถุ หรือที่เรียกว่า
“ทุนนิยม” ที่เห็นความสำคัญของวัตถุมากว่าจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ นำเสนอความโลภ
และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ กับการเรียกร้องเพื่อครอบครองผลประโยชน์ที่คิดว่าตนควรจะได้
          เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงสุไลมาน ชายหนุ่มที่พยายามเรียกร้องสิ่งที่ตนคิดว่าไม่เป็นธรรมสำหรับตนเอง คือ เรื่องมรดกที่ผู้เป็นบิดาแบ่งให้ตนก่อนจะเสียชีวิต ด้วยการใช้สภาพอารมณ์ที่โดดเด่น คือ ความโกรธ เป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง
          “ผมไม่ชอบเลย มันเป็นของน่าละอาย มากกว่าเชิดหน้าชูตาให้ผู้เป็นเจ้าของ” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๕) อนุสรณ์ ได้เปิดประเด็นความขัดแย้งของเรื่องด้วยการให้ความรู้สึกที่กึกก้องอยู่ในใจของสุไลมาน ตัวละครที่ทำหน้าที่เสมือนเล่าเรื่องของตัวเอง ความไม่พอใจใน “เรือนไม้ชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ราคาไม่กี่ตังค์” ทรัพย์สินที่บิดามอบไว้ให้ก่อนเสียชีวิต เกิดขึ้นด้วยความโกรธ แต่เขาก็จำต้องรับมันด้วยเหตุว่าเป็นธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา “บ้านโบราณ” อาจเป็นตัวแทนของบิดาผู้ล่วงลับ ที่ทิ้งไว้เพียงความหวังและคำสอนว่า ให้พี่น้องรักและพึ่งพาอาศัยกัน  แต่ท้ายที่สุดความไม่พอใจในสิ่งที่ตนได้รับและความต้องการทรัพย์สินที่มีค่าของสุไลมาน ก็ทำลายความเชื่อและความเคารพในคำพูดของบิดา ด้วยความคิดว่าจะขายบ้านโบราณหลังนั้นและทรัพย์สินทั้งหมดและเอาเงินมาแบ่งกับพี่ชาย ถึงตอนนี้ความเคารพในคำพูดและคำตัดสินที่ต่างถือว่าเป็น “วาจาสิทธิ์” ของบิดา ได้ยุติลงจากจิตใจของสุไลมานจนหมดสิ้น ความโลภก่อตัวขึ้นแทนที่ และกลายเป็นความโกรธที่มีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น
          ความโกรธ ของสุไลมาน ปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เขาทราบว่า บิดาจะยกที่ดินติดถนนและโรงแรม ให้กับพี่ชาย เพราะเขารู้ดีว่าวันหนึ่งเจ้าของโรงแรมต้องมาขอซื้อเพื่อขยายกิจการในราคาแพงลิบลิ่ว “เอาเปรียบกันชัดๆ ผมตะโกนลั่นในใจ หากแต่เก็บงำความไม่พอใจอยู่ในใจไม่แพร่งพราย” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๖) “ผมอยากหัวเราะดังๆ ดินที่อ่าวต้านนุ่นที่ป๊ะว่านั้น มันเป็นดินเปล่าไม่มีอนาคต อีกนานกว่านักธุรกิจที่ดินจะต้องการ ขาดๆ เกินๆ ที่ว่า บังและป๊ะกำลังเอาเปรียบผมอยู่โทนโท่” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๖) การไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินมีค่าที่ควรจะได้ ทำให้มนุษย์รู้สึกว่า “เป็นความขาดทุนเสียหาย เสียเปรียบ” หากลองคิดใคร่ครวญในแนวศาสนาโดยมิเจาะจงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ก็จะพบว่าทั้งเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม เป็นซิกซ์ หรือศาสนาใดๆ ล้วนแต่มุ่งทำลายความเห็นแก่ตัวในตัวมนุษย์ทั้งสิ้น การที่สุไลมานรู้สึกว่าตนถูกพี่ชายเอาเปรียบ พี่ชายเป็นผู้เห็นแก่ตัว ชี้ให้เห็นว่า ในที่สุดมนุษย์ก็มิได้เอาแนวทางของศาสนา คือการทำลายความเห็นแก่ตัวมาใช้ แต่กลับเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นของขาดทุนเสียหายสำหรับตน เพราะคิดว่าหากเราไม่เห็นแก่ตัวเราก็จะเสียเปรียบ คนที่เห็นแก่ตัวเขาก็ได้เปรียบได้ประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ว่า ไม่มีใครกล้าที่จะไม่เห็นแก่ตัว ฉะนั้นสิ่งที่อนุสรณ์ พยายามเสนอผ่านอารมณ์และมุมมองของสุไลมานตอนนี้คือ เพื่อให้มนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ รู้จักกับศัตรูตัวฉกาจของจิตใจที่จะนำไปสู่ความโลภ สิ่งนั้นคือ ความเห็นแก่ตัว นั่นเอง
          “อุวะ แล้วทำไมไม่พูดตอนป๊ะอยู่เล่า? มาพูดตอนนี้แล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ป๊ะอุตส่าห์ส่งแกไปเรียนปอเนาะสามปีตามที่แกอยากเรียน กลับมายังงกอยู่กับเรื่องสมบัติ ป๊ะรู้จะเสียใจขนาดไหน เรียนศาสนาเสียเปล่า แต่มีความคิดเป็นเด็กอมมือ...” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๙) แม้มนุษย์จะได้รับการศึกษาสูงเพียงไร การศึกษาก็มิได้ขัดเกลาให้กิเลส ความโลภ และความเห็นแก่ตัวลดลงจากจิตใจมนุษย์เลย เมื่อจิตใจของมนุษย์ถูกครอบงำด้วยอำนาจของความเจริญทางวัตถุในสังคมหรือที่เรียกว่า “วัตถุนิยม” ก็เสมือนฟืนไม้เชื้อเพลิงอย่างดีที่สุมไฟแห่งกิเลส ความโลภและความเห็นแก่ตัวในจิตใจมนุษย์ให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ลุกลามและเผาผลาญจิตอันสงบ ปราศจากกิเสสและความเห็นแก่ตัวจนมอดดับสิ้น ยิ่งมนุษย์มีการศึกษาสูงเท่าใด ความเจริญทางวัตถุก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อความเจริญทางวัตถุสูงขึ้นเพียงไร ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์โลกก็ย่อมเพิ่มขึ้นเท่านั้นเช่นกัน
         
          ด้วยอำนาจของสังคมระบบ “ทุนนิยม” ที่เป็นตัวกำหนดระดับกิเลสในจิตใจของมนุษย์ เพราะยิ่งวัตถุเจริญไปเท่าไร ก็ยั่วยวยให้มนุษย์ขวนขวายเพื่อการครอบครองสรรพสิ่งบนโลกเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในที่สุดก็กลายเป็นความละโมบโลภมาก มุ่งแต่จะกอบโกย แก่งแย่งแข่งขันกัน และเมื่อมนุษย์ต่างแก่งแย่งกันเพื่อให้ตนได้มาซึ่งสิ่งทีปรารถนาจะครอบครองเพื่อสนองวามต้องการของตนเอง  เมื่อนั้นความสันติสุขและสันติภาพก็จะเลือนหายไปจากสังคม
          “ผมสั่นเทิ้มด้วยความโกรธ พี่น้องฆ่ากันได้เพราะแย่งสมบัติ ผมได้ยินเสียงนั้นแว่วมาแต่ไกล ไม่นึกเลยว่าจะมาประสบด้วยตัวเองสักวัน” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๙)
          “แววตาของพี่ชายร่วมสายเลือดของผมเหมือนศัตรูคู่แค้น หาใช่พี่น้องคลานตามกันมาไม่” (อนุสรณ์  มาราสา : ๒๒๘)
          นายหน้าที่ดินสองคนที่เดินออกจากบ้านพี่ชายของสุไลมาน กับคนในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยที่เลือกขายที่ดิน เพื่อปรับตัวในกระแสการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวแทนของ “ระบบทุนนิยม” และผู้ยอมรับในระบบสังคมดังกล่าว ระบบสังคมที่มนุษย์เห็นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่ทำลายความสงบสุขและสันติภาพ แล้วนำไปสู่การแย่งชิงเพื่อการครอบครองทรัพย์สินเงินทองและวัตถุที่ต้องการ พี่น้องที่เกือบฆ่ากันตายเกิดขึ้นเพราะใจมนุษย์กระหายอยากวัตถุที่เจริญเหล่านั้น เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง อนุสรณ์ พยายามชี้ให้เห็นว่าเมื่อความเจริญทางวัตถุมีมากขึ้น สันติสุข และสันติภาพ จะยิ่งเลือนหายไปจากสังคมแล้วจะเกิดการสู้รบการแก่งแย่งในที่สุด ความเจริญจึงกลับกลายมาเป็นอุปกรณ์ของอาชญากรรมทำลายความสงบสุขในสังคม ฉะนั้น ศัตรูอันฉกาจของมนุษย์คือ กิเลส ความโลภ อันเกิดจากความเจริญทางวัตถุที่เรายับยั้งมันไม่ได้นั่นเอง
ประโยคสำคัญในความคิดของสุไลมานว่า
          “สามปีเต็มๆ ในปอเนาะ ได้สอนอะไรให้ผมบ้าง หากไม่ใช่เรื่องราวการมีชีวิตอยู่ก่อนที่ชีวิตจะสิ้นลมปราณ นอกจากปฏิบัติศาสนกิจกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่จะให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และญาติพี่น้องต้องเป็นคนแรกๆที่เราต้องกระทำ ผมทิ้งตำรานั้นไปอยู่เสียที่ไหน?” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๓) ประโยคดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ความเจริญทางวัตถุ คือเครื่องกระตุ้นกิเลส ความโลภ และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้หายไปเสียแล้วจริงๆ ทิ้งไว้เพียงร่องรอยความขัดแย้งระหว่างพี่น้องที่สุไลมานคิดว่าไม่สมควรให้อภัย นับเป็นประโยคอีกหนึ่งประโยคที่แสดงแนวคิดที่ชัดเจนของอนุสรณ์ ก็กล่าวได้
         
นัยเชิงสัญลักษณ์ : ความโกรธ ดั่ง แรงคลื่น
          ลักษณะที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือ สภาพอารมณ์ของตัวละครผู้เล่าเรื่องอย่าง
สุไลมาน ที่อนุสรณ์บรรจงสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ สภาพอารมณ์โกรธ ปรากฏในเรื่องอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเรื่อง โดยการนำ “คลื่น” ที่ซัดเข้าหาฝั่งด้วยความคุ้มคลั่งอย่างไม่ลดละมาเป็นสัญลักษณ์แทนสภาพอารมณ์โกรธของสุไลมาน เช่น   
          คลื่นบ้าก่อตัวขึ้น คลื่นนี้ไม่สงบลงง่ายๆหรอก...” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๒๙)

          “ผมเห็นคลื่นแห่งความโกรธกำลังก่อตัวขึ้นมา เป็นคลื่นสีดำยอดสูงที่พร้อมกระหน่ำซัดสาดสิ่งที่กีดขวางเบื้องหน้าให้เรียบ...” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๑)

          “คำพูดของก๊ะสะใภ้ที่พรั่งพรูออกมา ราวกับเป็นเขื่อนกั้นกระแสคลื่นโกรธของผมได้ชั่วขณะหนึ่ง” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๒)
          สภาพอารมณ์โกรธของสุไลมานที่ใช้ “แรงคลื่น” เป็นสัญลักษณ์ ชี้ให้เห็นว่า “อำนาจของแรงคลื่น ดั่งแรงแห่งความโกรธที่เกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัว ความโลภ และความเจริญทางวัตถุ” ยังผลให้ความโกรธนั้นทรงพลังอำนาจยิ่งกว่าแรงคลื่นอื่นใด และก่อตัวเป็นคลื่นแห่งอารมณ์ที่ยิ่งใหญ่มาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องให้ถอยห่างออกจากกัน
          แต่แล้วในที่สุด คลื่นบ้า คลื่นความโกรธ และคลื่นอารมณ์ ของสุไลมานที่ก่อตัวขึ้นอย่างมีพลังอำนาจพร้อมทำลายล้าง ค่อยๆสงบลง เมื่อสุไลมานทราบความจริงว่าพี่ชายที่ตนสาดคลื่นอารมณ์ใส่อย่างหนักหนานั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้ส่งเสียตนเรียนจนจบปอเนาะ ถึงตอนนี้คลื่นอารมณ์ในใจของสุไลมานได้สงบลงแล้ว เขามีโอกาสได้ทบทวนเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นอีกครั้ง กระทั่งเขาค้นพบถึงสิ่งที่เขาต้องทำต่อไปนั่นคือ การขอยกโทษจากพี่ชายผู้แสนดี และ “การสารภาพผิดกับองค์อัลลอฮ์ ผู้ทรงเห็นในสิ่งที่เปิดเผยและเร้นลับ ให้พระองค์ได้ยกโทษแก่ความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับพี่ชายร่วมสายเลือด” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๒-๒๓๓) จังหวะของเรื่องดำเนินไปอย่างช้าๆ ฉากหรือแวดล้อมของตัวละครคือสุไลมาน ต่างอยู่ในความสงบนิ่ง อารมณ์ของเขาเย็นลงอย่างไม่น่าแปลกใจ เขาได้คิดทบทวนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาพความทรงจำในวัยเด็กของเขากับพี่ชายเคลื่อนผ่านเข้ามาในห้วงคำนึงของสุไลมาน
          กระทั่ง! จังหวะของเรื่องได้ดำเนินขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสุไลมานพาตัวเองหลุดออกจากห้วงคำนึงเหล่านนั้น แล้วเร่งฝีเท้าเดินลงจากเนินทรายไปยังท่าเรือที่พี่ชายมักมาขึ้นฝั่ง การดำเนินเรื่องเพิ่มระดับความเร็วขึ้นอีกระลอก เมื่อสุไลมานต้องพบกับผู้คนที่ต่างวิ่งสวนทางตนออกมาอย่างอลม่าน พร้อมกับคำบอกเล่าอย่างตกใจและเหนื่อยหอบว่ามีคลื่นใหญ่เกิดขึ้นที่ท่าเรือ ในที่สุดคำขอโทษของสุไลมานก็สายเกินไปเสียแล้ว พี่ชายของเขา อยู่ในสภาพของร่างที่ไร้วิญญาณ 
          คลื่นยักษ์ได้ทำลายท่าเรือ บ้านเรือน ร้านค้า และเรือพังเสียหาย คลื่นยักษ์ได้คร่าชีวิตผู้คนเคราะห์ร้ายไปหลายชีวิตรวมทั้งพี่ชายของสุไลมานด้วย และที่สำคัญคือคลื่นยักษ์ได้ชะล้าง กลืนกิน “คำขอโทษ” ของ
สุไลมานที่จะมอบแก่พี่ชายของเขา ลงไปในทะเลด้วยเช่นกัน
          ในเวลานี้ สัญลักษณ์ที่อนุสรณ์แทนใช้แทน ความโกรธ นั่นคือคลื่นชนิดต่างๆในจิตใจของสุไลมาน ได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้ง กลับกลายเป็นคลื่นยักษ์สึนามิที่สาดซัดทำลายสิ่งต่างๆที่อยู่ตรงหน้า รวมทั้งพี่ชายของสุไลมานด้วย และแล้วความโกรธของสุไลมานก็ได้คร่าชีวิตพี่ชายที่แสนดีของเขาเองในที่สุด
          อนุสรณ์ ใช้ “คลื่นสึนามิ” เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจกการทำลายล้างของความโกรธ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว และอำนาจของระบบทุนนิยม ระบบของความเจริญทางวัตถุ ที่เข้าทำลายล้างทุกอย่างให้หายไปในชั่วพริบตา ทั้งทรัพย์สินที่มนุษย์พยายามแย่งชิงกัน ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จนอาจเป็นคำตอบให้กับสุไสมานต่อคำถามที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแรงคลื่น “นี่มันเป็นแรงคลื่นชนิดใดกัน ที่ได้สร้างความหายนะได้เช่นนี้?” (อนุสรณ์ มาราสา : ๒๓๔) คำตอบคือ คลื่นอารมณ์และคลื่นพลังอำนาจทางจิตใจในความโลภ การแย่งชิง และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์อย่างเขานั้นเอง
          “แรงคลื่น” เสมือนเงาสะท้อนสังคมให้เห็นถึงผลกระทบของระบบของวิธิคิดแบบทุนนิยม ที่ความเจริญทางวัตถุ เข้ามากำหนดความคิดของมนุษย์ เป็นความเจริญอย่างบ้าคลั่ง ที่ยิ่งเจริญมาเพียงไร ความเจริญนั้นก็จะกลับกลายป็นเครื่องมือของอาชญากรรมมำทำลายความสงบสุขและความสันติสุขของสังคม
         
          เรื่องสั้นเรื่องนี้กระตุ้นให้ผู้อ่าน ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีการใช้ชีวิตมาเป็นความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีและเป็นอยู่ ถ่อยห่างความเจริญทางวัตถุ เพื่อชะลอให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ให้ดำเนินอย่างช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทบทวนวิถีเก่าที่เคยเป็นอยู่ แต่เดิมแม้ไม่มีไฟฟ้า ก็หุงข้าวได้ด้วยฟืน ตักน้ำได้จากบ่อ พอมีไฟฟ้า ก็ต้องใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้า ต้องหุงข้าด้วยหม้อไฟฟ้า ต้องมีโทรทัศน์วิทยุ ที่บรรจุรายการกิเลสเพื่อยั่งยุให้จิตใจของมนุษย์สร้างกิเลสเหล่านั้นขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตนอย่างไม่สิ้นสุด และกระตุ้นให้มนุษย์พึงระลึกไว้เสมอว่า

“ความเจริญที่ควบคุมไม่ได้ คืออันตรายที่สุดสำหรับมนุษย์”

บรรณานุกรม
        กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, ราหูอมจันทร์ Vol.1 กีต้าร์ที่หายไป.สำนักพิมพ์นาคร, ๒๕๔๙

* นายวิวัฒน์  ทัศวา นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

3 ความคิดเห็น:

  1. แนวคิดเป็นตัวของตัวเองดี เป้นแฟนกนกพงษ์เหมือนกันจะบอกว่าใจตรงกันชอบเรื่องนี้

    ตอบลบ
  2. ชอบความคิดคายค่ะ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมนะครับ ผมมีโอกาศได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้เมื่อตอนเรียนวิชาวรรรกรรมปัจุบัน ได้ข้อคิดจากเรื่องนี้เยอะมากครับ ขอคุณอีกครังน่ะครับ คุณ warapatama jongsub

    ตอบลบ