วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทวิจารณ์เรื่องสั้น "รากเหง้า" ของสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ


“รากเหง้า” : ภาพสะท้อนความคิดมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม
                                                         โดย นายวิวัฒน์   ทัศว



          “รากเหง้า” ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นกสีเหลือง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวน ๑๑ เรื่อง ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ รากเหง้า ของ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ที่เลือกวัสดุในการดำเนินเรื่องอย่างน่าค้นหา โดยการผูกปมความคิดย้อนในตัวเองและนำพาตัวเองเพื่อไปคลายปมความเป็น รากเหง้า และสิ่งที่เป็นตัวตน โดยการตีแผ่ความเป็นตัวตนท่ามกลางความขัดแย้งของฉากหรือแวดล้อมทางสังคม สะท้อนวิธิคิดของมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม ที่ให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ นำเสนอความพยายามของมนุษย์ในการดิ้นรน แสวงหาผลประโยชน์เพื่อบำรุงบำเรอความสุขของตัวเอง
          เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงชายคนหนึ่งที่มีความพยายามค้นหารากเหง้าของตัวเอง ที่เขารู้สึกว่านับวันจะยิ่งถอยห่างและเลือนรางไป การค้นหารากเหง้าความเป็นตัวตนของเขา ทำให้เขารู้จักตระกูลของตัวเองและได้พบกับญาติผู้ใหญ่คนเดียวของตระกูลที่ยังเหลืออยู่ “ทำไมผมถึงไม่เคยอยากรู้ ทำไมพ่อกับแม่ถึงไม่เคยเล่าให้ลูกๆฟัง ผมไม่รู้ว่าสิ่งนี้มนุษย์จำเป็นต้องคิดถึงมันหรือไม่ มันควรจะถูกทิ้งให้หายไปกับกาลเวลา เป็นความลับอันมืดมนอนธกาล หรือว่าอย่างไร” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๑๘) สุทธิพงษ์ ได้ย้อนแย้งความรู้สึกของตนในการดำรงชีวิตโดยปราศจากต้นตอของชีวิต แต่การค้นพบคำตอบของเขาทำให้เขาพบว่า อันที่จริงเขามี “รากเหง้าอีกอันหนึ่งที่ควรจะค้นหาให้รู้แท้ ไม่น้อยไปกว่ารากเหง้าอื่นใด” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๕) รากเหง้า เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งถึงจุดกำเนิดแห่งชีวิตที่เคยผสมผสานกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว หากชีวิตเราเองคือผลผลิตอย่างหนึ่งของธรรมชาติเช่นเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็ถูกสร้างมาพร้อมๆกันกับเรา
          การดำรงอยู่ของชายชราผู้มีความสัมพันธ์กับต้นตระกูลของตัวละครหลัก เป็นการดำรงอยู่ที่แตกค่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะการดำรงชีวิตของชายชรา เป็นการดำรงชีวิตที่แนบแน่นและเกื้อกูลกับธรรมชาติ ความสุขของชายชราคือ การดำรงอยู่ที่เป็นไปโดยไม่พยายามดิ้นรนไขว่คว้าอะไร เพราะความสุขสงบของชีวิตชายชราไม่ได้ผูกติดกับระบบเศรษฐกิจ ชายชราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการพึ่งพาธรรมชาติ เขาสามารถหาอาหาร ยารักษาโรคได้จากธรรมชาติที่เขาอาศัย อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ ชายชราอาจเป็นตัวแทนของของระบบ “อนุรักษ์นิยม” ที่นับวันจะยิ่งห่างหายไปจากสังคมไทย
          “ผมไม่สงสัยว่าทำไมคนเราจึงต้องอยู่ที่โน่น ที่นี่ ซึ่งต่างกัน แต่ผมอยากรู้จริงๆว่าที่ไหนหนอจึงจะเป็นที่ ที่ชีวิตควรดำรงอยู่อย่างแท้จริง” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๐) เมื่อระบบอนุรักษ์นิยมยังคงอยู่ ยังผลให้มีข้อจำกัดบางประการต่อการใช้ทรัพยากร มนุษย์จึงต้องดิ้นรนออกจากสังคมป่าและธรรมชาติ เพื่อเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยม เพราะเป็นสังคมที่เราแสวงหาผลประโยชน์ได้ไม่จำกัด
       
        การคงอยู่อย่างเกื้อกูลและแนบสนิทกับธรรมชาติของชายชราคือการคงอยู่ที่เป็นการพึ่งพาอาศัยกันของมนุษย์กับธรรมชาติ สะท้อนความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติที่เป็นสัจธรรม อันเป็นพื้นฐานและรากเหง้าของมนุษย์ “รากเหง้าที่แม้จะแคระแกร็นและโรยราแต่กลับเป็นรากที่เหยียดหยั่งลงไปในพื้นดินที่ลึกและมั่นคง แก่นไม้ยังคงยืนต้นตายตระหง่านท้าลมฝนและกาลเวลา” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๑) รากที่เหยียดหยั่งลึกลงไปนั้น เสมือนความคิดที่เป็นวิธีคิดในระบบอนุรักษ์นิยมที่พยายามยุติการไขว่คว้า แม้จะต้องต่อสู้กับอำนาจของระบบทุนนิยม แต่ก็ยังคง “ประกาศความเป็นตัวตนเคียงคู่กับความเป็นจริงที่ผันแปรไป” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๑) แก่นและรากเหง้าของต้นไม้คือ การไม่หลงลืมหรือละเลยพื้นฐานของชีวิตและความสัมพันธ์ของมนุษย์ เป็นการคงอยู่เพื่อดำรงรักษาและประกาศความเป็นรากเหง้า ความเป็นตัวตนอย่างมั่นคง
          ขณะที่คนรุ่นหลังต่างยินยอมพร้อมใจกันเป็นยอด เบื้องล่าง “รากผู้ให้ชีวิต” กลับมีแต่จะเหยียดหยั่งแทงลึลงไปในเนื้อดินเป็นภาพที่ขัดกันโดยสิ้นเชิง การยอมรับและหลงใหลในระบบทุนนิยมเสมือนกับการพร้อมใจกันเป็นยอดไม้ ละเลยความสนใจในรากเหง้าความเป็นพื้นฐานของตน ที่นับวันก็จะยิ่งถอยห่างความเป็นตัวตนออกไปทุกขณะ เป็นความพร้อมใจกันเดินสวนทางทางความคิดของวิธิคิดแนวทุนนิยมกับวิธีคิดแนวอนุรักษ์นิยม
          การสวนทางทางความคิดและการเปลี่ยนแปลงไปของค่านิยม ถูกนำมาสะท้อนผ่านฉากของเรื่อง   สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ บรรยายฉากอย่างโดดเด่น ผู้อ่านจะได้สัมผัสเสมือนว่าได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ เขาเลือกใช้ภาษาสื่อ ภาพ ความคิดและอารมณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกใช้คำที่ได้ใจความ สื่อความหมายเหมาะเจาะ ในการพรรณนาฉากกระท่อม กับ “สีสันสวยสดของผลไม้โบว์ที่แสนจงใจประกอบขึ้นเป็นตะกร้า ช่างขัดกันเหลือเกินกับหม้ออลูมิเนียมสีเขม่าบุบบู้บี้ และถ้วยสังกะสีเก่ากะเทาะหย่อมเล็กๆที่กองอยู่ท้ายกระท่อม” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๑) ภาพการผลักตะกร้าผลไม้คืนกลับมาของชายชรา และบอกด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า “กินไม่เป็น”   เป็นฉากและคำพูดที่สะท้อนค่านิยมที่แปรเปลี่ยนไป และนำไปสู่การถอยห่างออกจากรากเหง้าดั้งเดิมของตน เพราะวัฒนธรรมที่ต่างที่ ต่างมิติเวลา ที่ระบบทุนนิยมครอบงำความคิดของมนุษย์ได้เสกให้พื้นที่สองแห่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วราวกับมีเวทมนต์ การประกอบขึ้นอย่างจงใจของตะกร้าผลไม้ เสมือนกับความจงใจรับค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นหลัง
          คำพูดของชายชราที่ว่า “กินไม่เป็น” เป็นคำพูดที่กระตุ้นให้ชนรุ่นหลังต้องกลับมาทบทวนวัฒนธรรมการกินการอยู่ของตนที่ระบบทุนนิยมได้นำนวัตกรรมมาแปรรูปอาหารจนกลายเป็นของใหม่ เป็นเครื่องกระป๋องที่คงความเป็นธรรมชาติของมันน้อยมาก แอปเปิ้ล คือผลไม้เมืองนอกที่ผ่านการขนส่งด้วยระบบการขนส่งที่รวดเร็วและสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เบื้องหลังภาพตะกร้าอันสวยงามบรรจง ยังซ่อนอะไร้ไว้อีกมากมายเกี่ยวกับการเข้ามาแทนที่ของยุคสมัย การก้าวกระโดดจากยุคเกษตรกรรมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม
          นอกจากนี้ “ภูเขาขี้เลื่อยมหึมา ใกล้ๆโรงจักรมีบ้านปีกไม้ทรงตะวันตกที่ดูประณีตและเจตนาตั้งอยู่” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๓) ระบบทุนนิยมส่งมนุษย์เข้าไปบุกรุกต้นไม้และธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นแหล่งกำเนิด ต้นน้ำ อากาศ อาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ ล้วนแล้วคือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น แต่บัดนี้กลายเป็นแค่ไม้ที่ไม่มีรากเพื่อส่งขายแก่ระบบอุตสาหกรรมไม้ บ้านปีกไม้ทรงตะวันตกอันประณีตและจงใจสร้างขึ้นกับกระท่อมหลังเก่าเล็กๆของชายชรากลางป่าใหญ่ต่างกันโดยสิ้นเชิง น่าสนใจว่าทั้งบ้านปีกไม่ทรงตะวันตกและกระท่อมของชายชราอยู่ท่ามกลางสภาพแวดท้อมเดียวกันนั่นคือป่าไม่และธรรมชาติ จะต่างกันก็ตรงที่บ้านปีกไม้ทรงตะวันตกอยู่ในสถานที่ที่เคยเป็นป่าเท่านั้นเองแต่การดำรงชีวิตและความสงบสุขกลับต่างกัน ที่ชายชราอยู่ไม่มีความเคลื่อนไหวของการดิ้นรนไขว่คว้า ผิดกับที่ตั้งของบ้านปีกไม่ทรงตะวันตกกลับเห็นภาพและได้ยินเสียงของการไขว่คว้า สิ่งนี้สะท้อนว่าเรากำลังยินยอมและน้อมรับความเป็นอยู่ในระบบทุนนิยมอย่างเต็มใจ  
        “เสาทีวีแทงขึ้นไปในอากาศดูเหมือนดอกหญ้าในท้องทุ่ง” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๔) สิ่งเราเคยฟังเคยชมในอดีต ภาพของหนังตะลุงมโนราห์ ลำตัด หมอลำ มหรสพชั้นกวีของไทย ถูกแทนที่ด้วยโทรทัศน์ เป็นสื่อล้างสมองชั้นดี เพียงแค่ปิดทีวี คอมพิวเตอร์เราก็พร้อมจะถูกกระตุ้นโดยกิเลส อำนาจใฝ่ต่ำ หรือด้านมืดอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าใครจะเหนี่ยวรั้ง ขัดขืน ทัดทานมันได้มากกว่ากัน เทคโนโลยีต่างๆมีผลในการกล่อมเกลาให้นิยมยินดีกับระบบเงินคือ เงินคือพระเจ้า
          “เกือบหมื่อนไร่ นายหัวจะลงปาล์มทั้งหมด” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๔) คำพูดของคนงานชาวอีสาน กับสายตาแห่งความชื่นชมยินดี ภาคภูมิใจกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงจากป่าธรรมชาติไปเป็นป่าที่สร้างขึ้นเพื่อธุรกิจและผลประโยชน์ สะท้อนว่า แม้กระทั่งระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมที่เคยพึ่งพิงธรรมชาติและเกษตรกรรมอย่างพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน การเกษตรที่กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ระบบที่ต้องรองรับการเพาะปลูกเพื่อเศรษฐกิจ
          ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ชมละครชุมชนของกลุ่มเยาวชนตะขบป่า จากจังหวัดนครราชสีมา เมื่อไม่นานมานี้ในงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ๒๕๕๔ ละครของเขามีแนวคิดสอดคล้องกับเรื่องสั้นเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการสะท้อนสังคมในแง่ ทรัพยากรป่าไม้ที่กำลังหายไปของผืนป่าดงพญาเย็นที่เคยอุดมสมบูรณ์ ความร่มเย็นดั่งชื่อของผืนป่ากลับค่อยๆเลือนหายไป เมื่ออำนาจของระบบทุนนิยมเข้าครอบงำจิตใจของมนุษย์จนมืดบอด ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์จึงถูกทำลาย กลายเป็นเขาหัวโล้น มีคฤหาสน์สวยหรูตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน กระตุ้นให้เรารู้สึกว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงและเข้าใกล้เรามากขึ้นแล้วจริงๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาเกี่ยวกับทรัพยากรทางป่าไม้เป็นอีกแง่มุม ของการทำลายโลก ณ ปัจจุบันเรามิอาจปฏิเสธได้ว่า ผลกระทบจากระบบทุนนิยมเกิดขึ้นแล้ว และทุกคนต่างรองรับปัญหาด้วยน้ำตา อุทกภัยที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะการน้อมรับต่อการดำรงชีวิตด้วยระบบทุนนิยมของเราเองก็อาจกล่าวได้
          การค้นหารากเหง้าของตัวเราเอง ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคม “แสงสีแห่งอารยธรรม” คือสิ่งลวงตาที่แฝงด้วยมัจจุราชที่เข้าครอบงำทุกหนแห่ง หากจิตใจของเราไม่พอใจ และไม่รู้จัก “พอเพียง” ในสิ่งที่สังคมเรามีและเป็นอยู่ เราก็จำต้องก้าวจากอารยธรรมที่แท้จริงมากขึ้นเท่านั้น การหิวอาหารกระหายน้ำ คงมิใช่อาหารบนโต๊ะหรูใต้แสงสลัวอีกต่อไป  หากสุนทรียภาพแห่งเสียงและท่วงทำนองคือหมู่นกกา คงมิใช่ เสียงเพลงที่ขับร้องด้วยอารมณ์รุนแรงอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นภาพของข้าพเจ้าที่มีความรู้สึกนึกคิดร่วมกับเรื่องสั้นเรื่องนี้ ที่ทำให้ผู้อ่านถอยห่างจากระบบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัฒน์ สิ่งที่สามารถยับยั้งการหลงใหลกับระบบทุนนิยมคือการกลับไปค้นหารากเหง้าที่หลงเหลืออยู่ มิใช่เพียงการหันกลับไปมองพฤติกรรมของปู่ย่าตายาย แต่ควรทบทวนวิถี ความเชื่อ ระบบความคิด ที่คงหลงเหลืออยู่ แม้ว่ามันจะพังทลายลงเกือบหมดแล้วก็ตาม หากชนรุ่นลูกรุ่นหลานไม่รู้คุณค่าการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน มองไม่เห็นห่วงแห่งความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับมนุษย์ มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติและมนุษย์กับสังคมที่ล้วนแล้วส่งผลได้เสียต่อกัน หากมนุษย์พิกลกิการทางความคิดกำหนดความคิดผิดทิศผิดทาง ธรรมชาติแวดล้อมล้วนได้รับผลกระทบไปด้วย เฉกเช่น “คนงาน” ที่ทำลายรากเหง้าของตนเอง เพราะคนงานคือ เครื่องมือที่ถูกสั่งการโดยนายจ้าง คนงานต้องทำงานเพื่อแลกกับเงิน โดยมิได้ตริตรองถึงสิ่งอื่นใดนอกจากสิ่งแลกเปลี่ยน แลกกับการทำลายโลกอย่างสมใจอยากของระบบทุนนิยม
          สิ่งที่ทำได้เวลานี้คือ “การปลูกฝัง” ให้คนรุ่นหลังรู้จักและรักในรากเหง้าดั้งเดิมของตน ที่สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ได้สอดแทรกไว้ในตัวชายชราว่าการอยู่ของแนวความคิดอนุรักษ์นิยม เป็นไปเพื่อยืดเวลาไม่ให้ระบบทุนนิยมดำเนินไปอย่างคล่องตัว ถึงแม้ใครเขาจะมองว่าพวกอนุรักษ์นิยมคือคนแก่ ดักแด้ ดักดาน ก็ตาม “ผมคิดถึงชายชราผู้ฝังตัวเองอยู่บนภูเขาราวดักแด้ ดักดาน ใครบ้างที่เกิดมาเพื่อยุติการไขว่คว้าดิ้นรนอย่างแก” (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ : ๒๕)
        “รากเหง้า” เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนสังคมให้เห็นถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อ ประชาชน ระบบทุนนิยมทำให้ความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะต่างคนก็ มือใครยาว สาวได้สาวเอาบางทีคนเราก็ไม่มีทางเลือกที่มากนัก ทุกคนจำต้องหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเอง พยายามหาพื้นที่ทางสังคมให้ตนเองยืนอยู่ได้และเป็นที่ยอมรับจากคนในสังคม แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากการตกเป็นทาสของกระแสทุนนิยมที่ ไหลมาอย่างไม่ขาดสาย


                                                                            



บรรณานุกรม
         สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ. รากเหง้า. สำนักพิมพ์นกสีเหลือง, ๒๕๓๕.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น